xs
xsm
sm
md
lg

ชาวปากพิง-ซุ้มไก่ดัง อุ้ม “ไก่เทาทองคำ” ร่วมประชัน-บวงสรวง “พระเจ้าตากฯ” ปราบ “อะแซหวุ่นกี้”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิษณุโลก - เจ้าของซุ้มฯ-ชาวปากพิง แผ่นดินประวัติศาสตร์สนามรบ “พระเจ้าตากสินฯ” กรีฑาทัพสกัด “อะแซหวุ่นกี้” ไล่ทหารพม่าพ้นดินแดน อุ้ม "ไก่เทาทองคำหางขาว" ร่วมประชันไก่ในตำนานพระเจ้าตาก เชื่อเป็นไก่มงคล-วงการให้ราคาสูงตัวละครึ่งแสน


วันนี้ (28 ธ.ค. 64) นายสมเกียรติ พูลสุขเสริม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมหัวหน้าส่วนราชการและประชาชนร่วมพิธีบวงสรวงและพิธีบำเพ็ญกุศลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วัดปากพิงตะวันตก หมู่ที่ 2 ตำบลงิ้วงาม อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

โอกาสนี้ ชาวบ้านปากพิงตะวันได้นำไก่ชนเทาทองคำหางขาว หรือไก่ชนพระเจ้าตากสินมหาราช มาโชว์และประกวดกันในงานด้วย ซึ่งพบว่า ไก่เทาทองคำหางขาวมีลักษณะเด่น คือ ลำตัวสีเทาอ่อนเหมือนสีขี้เถ้าไม้สุมไฟ สีสร้อยเป็นสีเหลืองเหมือนทองคำ จึงเรียกว่าไก่เทาทองคำ ถือว่าเป็นไก่เทาที่มีศักดิ์ศรีและสกุล เหนือกว่าไก่เทาประเภทอื่นๆ เทียบเท่าไก่เหลืองหางขาว วงการไก่ชน เรียก “ไก่เทาทองหางขาว” บางคนเรียกว่า “ไก่เทาทองคำ” หรือไก่เทาฤาษี ซึ่งเพศผู้มีน้ำหนัก 3 กิโลกรัมขึ้นไป เพศเมีย น้ำหนัก 2 กิโลกรัมขึ้นไป

นายสำเริง ยอดเกี้ยว อายุ 67 ปี เจ้าของซุ้มงิ้วงามผู้เพาะพันธุ์ไก่ 4 กษัตริย์ เล่าว่า บ้านปากพิง อดีตเป็นสนามรบดินแดนยุทธศาสตร์ ประวัติศาสตร์เล่าขานถึงเสาร์ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 3 “พระเจ้าตากสิน” นำทัพหลวงขึ้นมาทางลำน้ำแควใหญ่ เพื่อตั้งสกัดกองทัพของอะแซหวุ่นกี้ที่บ้านปากพิง แขวงเมืองพิษณุโลก และทำการรบพุ่ง ทหารไทยขับไล่ทัพพม่าจนพ้นอาณาเขต และจับทหารพม่าเป็นเชลยศึกได้

ตลอดเวลา 49 วัน ที่พระเจ้าตากสินประทับอยู่ที่บ้านปากพิง มีเรื่องเล่าต่อกันว่า พระองค์ได้ทรงเลี้ยงไก่เทาทองคำหางขาว ซึ่งเป็นไก่ที่สง่างามมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว จึงทำให้ชาวบ้านปากพิงแห่งนี้หันมาอนุรักษ์และเพาะพันธุ์ไก่เทาทองคำหางขาวเรื่อยมา ถึงขั้นส่งประกวดจนโด่งดังไปไกลถึงตลาดต่างประเทศ ราคาปัจจุบันพุ่งสูงถึงหลักหมื่น บางตัวสวยงามมากราคาสูงถึงตัวละ 5 หมื่นบาท


นายสัตวแพทย์ นิสิต ตั้งตระการพงษ์ ประธานชมรมอนุรักษ์ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ไก่เทาทองคำเป็นไก่ที่คนโบราณนิยมหามาเลี้ยงเพื่อเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของบ้านหรือเจ้าของซุ้ม เทียบชั้นกับไก่เหลืองหางขาว ตำราโบราณเล่าไว้ว่า..หากผู้ใดมีไว้ในครอบครองจะเป็นสิริมงคลยิ่งนัก หากมีไว้ประจำบ้านประจำครอบครัวจะส่งเสริมให้ลูกหลานในบ้านร่ำเรียนเขียนอ่านเก่งสำเร็จการศึกเป็นปราชญ์เป็นบัณฑิต มีความรู้ความสามารถสอนคนได้ เพราะเป็นไก่ที่สง่างามแล้วยังเป็นสิริมงคล จนกลายเป็นกระแส กระทั่งชาวบ้านหันมาเพาะพันธุ์และอนุรักษ์กันเรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 และจะมีการจัดประกวดทุกปีในวันที่ 28 ธันวาคม หลังจากพิธีบวงสรวงพระรูปพระเจ้าตากสินมหาราช




กำลังโหลดความคิดเห็น