xs
xsm
sm
md
lg

พระเจ้าตากสินเสด็จประทับแรมพัทยาก่อนไปจันทบุรี! ภาพทรงม้าชายหาดจึงเป็นตราประจำเมือง!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



เป็นที่น่าสังเกตว่า ตราประจำเมืองพัทยา สถานตากอากาศชื่อก้องโลกของไทย กลับมีรูปทหารโบราณขี่ม้าโดดเด่นอยู่บนชายหาด ด้านหลังเป็นวิวทะเลเวิ้งอ่าว แม้บรรยากาศจะดูห่างไกลกับความสวยงามทันสมัยของเมืองพัทยาในวันนี้ แต่ก็แสดงถึงที่มาของเมืองพัทยาตั้งแต่เริ่มแรกที่มีชื่อปรากฎในพงศาวดาร

พงศาวดารกล่าวว่า เมื่อพระเจ้าตากสินเมื่อครั้งยังเป็นเจ้าเมืองตาก ได้เข้ามาราชการกรุงศรีอยุธยา แล้วได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่ยังไม่ทันได้ออกไปประจำตำแหน่งใหม่ พม่าก็เข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยา เลยต้องอยู่ช่วยรักษาเมือง แต่การบัญชาการรบในขณะนั้นก็อ่อนแอและสับสนจนทรงเห็นว่าอยู่ต่อไปก็ทำประโยชน์อะไรไม่ได้แล้ว จึงทรงนำทหารราว ๕๐๐ คนแหวกวงล้อมของทหารพม่าออกจากกรุงมุ่งไปภาคตะวันออก ในระหว่างทางนอกจากจะทรงเผชิญกับกองทัพพม่าที่ตามติดและสกัดแล้ว ยังต้องทรงเผชิญกับคนไทยด้วยกันที่ตั้งตัวเป็นใหญ่และไม่ยอมเข้าร่วมด้วย เพราะเห็นว่ากองกำลังของพระองค์มีน้อยนิด จึงต้องทรงสู้รบไปตลอดเส้นทางจนถึงเมืองจันทบุรี แต่ก็มีคนสวามิภักดิ์เข้าร่วมด้วยจนกองกำลัง ๕๐๐ ของพระองค์คนกลายเป็นหมื่น
 
เส้นทางเดินทัพสู่เมืองจันทบุรีนั้น เมื่อพระเจ้าตากสินออกจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว ทรงไปในเส้นทางสู่เมืองนครนายก ผ่านปากน้ำเจ้าโล้ที่บางคล้า แล้วเลาะตามแม่น้ำบางปะกงสู่ชลบุรี เลียบชายฝั่งทะเลจากบางปลาสร้อย ผ่านบ้านนาเกลือ นาจอมเทียน สัตหีบ เข้าเมืองระยองและจันทบุรี

พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวถึงตอนเดินทัพล่วงเขตเมืองชลบุรีไปถึงนาเกลือ แขวงเมืองบางละมุง ไว้ว่า

“ขณะนั้นนายกลมเป็นนายชุมนุมคุมไพล่พลอยู่ที่นั่น คอยสกัดจะต่อรอง และพระยากำแพงเพชรขึ้นขี่พลายถือปืนนกสับรางแดง พร้อมด้วยพลทหารแห่แวดล้มหน้าหลัง ตรงเข้าไปในระหว่างพวกนายกลมซึ่งมาสกัดอยู่นั่น ด้วยเดชะพระบารมี บันดาลให้นายกลมเกรงกลัวเดชานุภาพวางอาวุธเสียสิ้น พวกพลทัพเข้าอ่อนน้อมเป็นข้า แล้วพาทัพไปหยุดประทับ ณ ที่มีหนองน้ำ พระยากำแพงเพชรจึงให้เงินตราห้าตำลึงเป็นรางวัลแก่นายกลม แล้วให้โอวาทสั่งสอนให้อยู่ในยุติธรรมสุจริต

ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันอังคารแรม ๖ ค่ำ เดือนยี่ นายกลมจึงคุมไพร่หมื่นหนึ่งนำทัพไปถึงตำบลทับยา หยุดพักแรมอยู่คืนหนึ่ง รุ่งเช้าจึงเดินทัพมาถึงนาจอมเทียนและทุ่งไก่เตี้ย สัตหีบ...”

“ตำบลทับยา” ที่ประทับแรมคืนหนึ่งนั้น ต่อมาชาวบ้านได้เรียกตำบลนี้ว่า “ทัพพระยา” ก่อนที่จะกลายมาเป็น “พัทยา” ในภายหลัง

แต่มีอีกกระแสกล่าวว่า เนื่องจากบริเวนที่พระเจ้าตากสินตั้งทัพพักแรมอยู่นั้น เป็นช่องที่มีลมทะเลชื่อ “ลมพัทธยา” ซึ่งเป็นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูฝน พาไอน้ำจากอ่าวไทยสู่แผ่นดิน ทำให้การทำนาและเพาะปลูกงอกงาม จึงเกิดเป็นหมู่บ้านที่เรียกกันว่า “หมู่บ้านพัทธยา” ต่อมาคำว่า “พัทธยา” ก็เขียนให้กระชับขึ้นเป็น “พัทยา”

แต่พัทยามาโด่งดังเมื่อทหารอเมริกันเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทยสมัยสงครามเวียดนาม และได้ใช้พัทยาเป็นที่พักผ่อนของทหารที่เคร่งเครียดกับการรบ โดยเช่าบ้านไว้แล้วจัดคิวให้มาพักผลัดละ ๗ วัน ทำให้พัทยาคึกคักขึ้นมา หลังสงครามเวียดนาม เมื่อทหารอเมริกันมาซ้อมรบย่านนี้หรือเรือรบผ่านมา ก็จะไม่พลาดที่จะยกพลขึ้นบกพัทยา ทำให้พัทยากลายเป็นเมืองตากอากาศที่โด่งดังไปทั่วโลก มีรายได้ถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์มาจากการท่องเที่ยว
 
แต่แม้พัทยาจะโอ่อ่างดงามทันสมัยอย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับเลือกให้เป็นเขตปกครองพิเศษ องค์การปกครองท้องถิ่นเมืองพัทยาก็เลือกเอารากเหง้าที่มาของเมืองพัทยามาเชิดชู จึงเป็นเหตุที่พระเจ้าตากสินมหาราชทรงม้าอยู่ที่ชายหาดในตราประจำเมืองพัทยา
กำลังโหลดความคิดเห็น