xs
xsm
sm
md
lg

มทส.เปิด “โรงสกัดกลั่นน้ำมันกัญชา” เทคโนโลยีขั้นสูง รองรับคลัสเตอร์กัญชาครบวงจร-เป็นฮับของประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - มทส.เปิด “โรงสกัดกลั่นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5” ภายใต้โครงการผลิตกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เผยเป็นการต่อยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรม “เครื่องกลั่นประสิทธิภาพสูงด้วยระบบการปั่นผสมไอแบบต่อเนื่อง” มีประสิทธิภาพสูงสามารถแยกสาร THC ออกจาก CBD ได้ สกัดกลั่นน้ำมันกัญชาได้วันละ 3 ลิตรและสกัดได้ทุกสายพันธุ์ รองรับคลัสเตอร์กัญชาครบวงจรและเป็น Cannabis Hub ใหญ่สุดของประเทศ

วันนี้ (16 ธ.ค.) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธีเปิด “โรงสกัดกลั่นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5” โครงการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มทส. โดยมี รศ.ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดี มทส. ศ.ดร.หนึ่ง เตียอำรุง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ศ.เกียรติคุณ ดร.นันทกร บุญเกิด และ รศ.ดร.อภิชาติ บุญทาวัน นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการฯ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนคราชสีมา ร่วมพิธี พร้อมเข้าชมกระบวนการสกัดกลั่น โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อแยกสารออกฤทธิ์สำคัญในกัญชา-กัญชง


รศ.ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดี มทส. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้เริ่มโครงการวิจัย “การผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์” เพื่อให้โครงการนี้เป็นแหล่งองค์ความรู้เทคโนโลยีและคลัสเตอร์วิจัยด้านกัญชา-กัญชงที่สำคัญ ที่สามารถตอบโจทย์ของประเทศทั้งด้านงานวิจัย นวัตกรรม การพัฒนากัญชา-กัญชงระดับคุณภาพ ที่สามารถพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน

จากผลการผลิตกัญชา มทส.ทั้ง 4 รุ่นที่ผ่านมาได้ผ่านการรับรองคุณภาพ และมาตรฐานจากหน่วยงานระดับประเทศว่ามีคุณภาพเยี่ยม ปลอดภัยแก่ผู้บริโภคในระดับ Medical Grade ให้สารออกฤทธิ์สำคัญสูง ไม่มีโลหะหนักตกค้างจึงสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบสำคัญในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาแผนไทย และแผนปัจจุบันหลายขนาน จากการสั่งสมองค์ความรู้เทคโนโลยีและการวิจัยของทีมนักวิจัยสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส.ได้ทำการศึกษา ค้นคว้า เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับกัญชาสายพันธุ์ไทย นับแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ เทคโนโลยีการเพาะปลูก ดูแล รักษา และการเก็บเกี่ยวผลผลิต การบริการวิชาการแก่สังคม ด้วยการจัดอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่วิสาหกิจชุมชนและเกษตรกร ควบคู่ไปกับการจัดคู่เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทั่วไป เกิดคลัสเตอร์กัญชาที่ครบวงจรที่สุด และปัจจุบันถือได้ว่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีคือ Cannabis Hub ใหญ่ที่สุดของประเทศในขณะนี้


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการติดตั้ง “โรงสกัดกลั่นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5” จากสำนักงานกรรมการอาหารและยาในครั้งนี้จะเป็นการยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรมภายใต้หลักการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการสกัดกลั่นสารสำคัญจากดอกกัญชาในระดับมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นผลงานการวิจัยพัฒนาและต่อยอดจากเครื่องกลั่นลำดับส่วนระดับโมเลกุล (Fractional molecular distillation) ของ รศ.ดร.อภิชาติ บุญทาวัน สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรที่สามารถแยกสาร THC ออกจาก CBD ได้ โดยไม่ต้องพึ่งเครื่องมือพิเศษที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาแพง มีขีดความสามารถและมีประสิทธิภาพในการสกัดกลั่นสูง ทั้งยังสามารถทำการกลั่นน้ำมันได้ทุกสายพันธุ์

ผลจากความสำเร็จนี้จะนำไปสู่การวิจัยคุณสมบัติของสารสำคัญที่นำไปปรับใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์สาธารณสุข ด้านเวชสำอาง การบำบัดรักษา เป็นต้น ทั้งยังต่อยอดให้เกิด Start up เกี่ยวกับนวัตกรรมกัญชาของประเทศต่อไป


ศ.ดร.หนึ่ง เตียอำรุง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวว่า มทส.ได้รับอนุญาตผลิตกัญชา เลขที่ใบอนุญาตที่ 13/2563 และเริ่มปลูกรุ่นแรกเมื่อเดือนเมษายน 2563 โดยผลผลิตช่อดอกได้นำส่งให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ศูนย์วิจัยหลอดเลือดสมอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในปัจจุบันได้ดำเนินการมาถึงรอบผลิตที่ 4 เพื่อเป็นการต่อยอดการวิจัยในระดับกลางน้ำ มหาวิทยาลัยได้ขอรับอนุญาตผลิต (สกัด) โดยได้รับอนุญาตตามใบอนุญาตเลขที่ 13/2564 และได้ดำเนินการต่อไปอนุญาตในปี 2565 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในปัจจุบันได้มีงานวิจัยที่นำสารสกัดจากกัญชามาใช้ในการรักษาโรคแผนปัจจุบันมากขึ้น โดยเฉพาะพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ข้ออักเสบ และโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เป็นต้น น้ำมันกัญชาเป็นหนึ่งในสารตามธรรมชาติที่พบได้ในพืชกลุ่มกัญชาและกัญชง โดยทั่วไปแล้วจะมีองค์ประกอบทางเคมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ เทอร์ปีน (terpene) ฟลาโวนอยด์ (flavonoids) และแคนนา บินอยด์ (Cannabinoids) โดยยังมีสารประกอบของแคนนาบินอยด์ที่สำคัญอีก 2 ชนิด คือ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol; THC) ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทที่ถือเป็นสารเสพติด และแคนนาบิไดออล (Cannabidiol; CBD) ที่มีคุณค่าทางยามากเช่นกัน แต่ไม่ถือเป็นสารเสพติด โดยสัดส่วนของ THC:CBD จะมีค่าแตกต่างกันแล้วแต่ชนิดของพันธุ์กัญชาที่จะนำมาใช้ เช่น สายพันธุ์หางกระรอก จะมีปริมาณของ THC ที่สูงมาก ทำให้ไม่สามารถใช้กับผู้ป่วยในปริมาณที่สูงได้


นอกจากนี้ การกำจัดสาร THC ออกจากน้ำมันกัญชาจะต้องใช้เครื่องมือชนิดพิเศษด้วยระบบโครมาโตรกราฟี (preparative chromatography) ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาแพง โดย มทส.ได้พัฒนาเครื่องกลั่นลำดับส่วนระดับโมเลกุล (Fractional molecular distillation) ที่สามารถแยกสาร THC ออกจาก CBD ได้ ทั้งนี้ เนื่องจาก THC และ CBD มีจุดเดือดแตกต่างกันที่ 157 และ 180 องศาเซลเซียสตามลำดับ หากทำการป้อนน้ำมันกัญชาดิบเข้าไป 1 ส่วน สามารถกลั่นลำดับส่วนแบบสุญญากาศได้แล้วจะได้ส่วนต่างๆ ออกมา 4 ส่วน คือ Terpene, THC, CBD, และส่วนที่กลั่นไม่ได้ (stillage) ตามลำดับ

โดยเครื่องดังกล่าวเป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากเรื่อง “เครื่องกลั่นประสิทธิภาพสูงด้วยระบบการปั่นผสมไอแบบต่อเนื่อง” เลขที่คำขอ 1001000226 ทะเบียนข้อมูลเลขที่ 67240 วันที่ออกหนังสือรับรอง 19 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งเครื่องดังกล่าวมีขีดความสามารถในการกลั่นน้ำมันกัญชาได้วันละ 3 ลิตร และ สามารถทำการกลั่นน้ำมันได้ทุกสายพันธุ์










กำลังโหลดความคิดเห็น