จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เร่งผลักดัน “Deep Tech Startups” 50 บริษัท ที่มีผลงานนวัตกรรมจากงานวิจัยของคณาจารย์ในรั้วจามจุรี มูลค่ากว่า 1.67 หมื่นล้านบาท เดินหน้าเปิดตัว “Club Chula Spin-off” ช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยจากวิกฤตโควิด-19 และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันกับนานาชาติ พร้อมร่วมสร้างระบบนิเวศใหม่สำหรับนักวิจัยเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมแชร์ประสบการณ์การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมให้สามารถตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม และเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและนำให้อาเซียนเติบโตในระยะยาว
ศ.ดร.นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประธานในพิธีเปิดงาน กล่าวว่า “กระทรวง อว. ได้เร่งดำเนินการสนับสนุนให้คณาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ตัวอย่างการผลักดันที่เห็นเป็นรูปธรรมเด่นชัดคือการประกาศพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นกฎหมายที่สนับสนุนให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนจากหน่วยงานของรัฐได้ นับเป็นก้าวสำคัญของการปลดล็อคอุปสรรคที่สำคัญของการพัฒนางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศไทยให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างแท้จริง”
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เราสปินออฟ…เพื่อชาติ” โดยกล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมจุฬาฯ รองรับเศรษฐกิจไทยหลังผ่านวิกฤตโควิด-19 จุฬาฯ นำผลงานนวัตกรรมจากงานวิจัยของคณาจารย์และนักวิจัยจุฬาฯ กลุ่ม Deep Tech Startups จัดตั้งบริษัท“สปินออฟ” สนองนโยบาย University Holding Company ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมีบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ซึ่งพัฒนาวัคซีนจุฬาฯ-ใบยา ป้องกันโควิด-19 นำหน้าความสำเร็จของสตาร์ทอัพจุฬาฯ ซึ่งขณะนี้จุฬาฯ มีสตาร์ทอัพในคณะต่างๆ ที่พร้อมสปินออฟมากกว่า 50 บริษัท อาทิ Haxter Robotics ผลิตหุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วย MINEED สร้างนวัตกรรมนำส่งยาที่ละลายและซึมผ่านผิวหนัง Nabsolute พัฒนาสเปรย์เพิ่มประสิทธิภาพหน้ากากผ้าป้องกันฝุ่น PM2.5, Tann D Innofood สร้างนวัตกรรมเส้นโปรตีนไข่ขาวเพื่อคนรักสุขภาพ Herb Guardian วิจัยพัฒนานวัตกรรมสเปรย์ฉีดพ่นลดฝุ่นละออง PM2.5 ฯลฯ รวมมูลค่าทางการตลาดกว่า 1.67 หมื่นล้านบาท โดยตั้งเป้าให้มูลค่าทางการตลาดของทั้งสตาร์ทอัพและสปินออฟจุฬาฯ ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนแตะ 5 หมื่นล้านบาท ภายใน 3 ปี
“เป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายประเทศไทยที่ต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วง 2 ปีนี้ นอกจากการส่งออก การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว มาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศแล้ว ประเทศไทยยังจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่เข้ามาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศชั้นนำของโลก ด้วยบทบาทของจุฬาฯ นอกจากจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ สร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพรับใช้สังคม ยังมีบทบาทในการพัฒนาอาจารย์นักวิจัยเพื่อเป็นแกนนำในการสร้างนวัตกรรมช่วยเหลือประเทศชาติ และเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะสร้างสังคมของเราให้ยั่งยืนซึ่งจะเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่เราจะได้เห็นอาจารย์และนักวิจัยจุฬาฯ เข้ามามีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดได้” อธิการบดีจุฬาฯ กล่าว
ผศ.ภญ.ดร.จิตติมา ลัคนากุล ประธานชมรม Club Chula Spin-off กล่าวว่า Club Chula Spin-off เป็นการแลกเปลี่ยนและสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนสังคมไทยและประเทศชาติจากการพัฒนางานวิจัยในหลากหลายสาขา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัตกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งในอนาคตจะเปิดพื้นที่สำหรับทุกๆ ท่านให้มาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความร่วมมือกัน จะเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ในการขับเคลื่อนสังคมไทย ทำให้เกิดการพัฒนาทางด้านงานวิจัยและนวัตกรรมอย่างก้าวกระโดด