เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ที่ห้องเวิลด์บอลรูมชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดงาน "มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) พร้อมเปิดเวทีเสวนา”การพลิกโฉมมหาวิทยาลัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” ซึ่งคีย์แมนสำคัญที่มาร่วมให้ทัศนะประกอบด้วย ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ,รศ. ดร. สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศ หรือ บพข. และ ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินรายการโดย ศ. ดร. พีรพงศ์ ทีฆสกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์ สกสว.
ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.วช. กล่าวว่า เมื่อมองถึงการวัดขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะมีกรอบสำคัญหรือคีย์เวิร์ดในการพิจารณาคือ นวัตกรรม การพัฒนาคน และนโยบาย BCG ซึ่งการจัดลำดับด้านนวัตกรรมของไทยจะมีการฉายภาพทุกปีเช่นเดียวกับเรื่องกำลังคน ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อไปยังเกณฑ์การวัดในระดับมาตรฐานสากล บทบาทของวช.เราทำทั้งด้านการสนับสนุนทุน การมอบรางวัลผลงานวิจัย การกำหนดมาตรฐานจริยธรรมการวิจัย การสร้างเครือข่ายการทำงานกับทุกภาคส่วน การทำงานวิจัยที่สามารถใช้ประโยชน์ทั้งในทางวิชาการสังคมชุมชนสู่เชิงพาณิชย์
ขณะที่ รศ.ดร. สิรี ชัยเสรี ผอ.บพข. กล่าวว่า ปัญหาของนักวิจัยส่วนใหญ่คือเมื่อทำวิจัยแล้วจะเป็นการวิจัยพื้นฐาน หรือ Basic แต่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงตามที่ภาคเอกชนจะนำไปใช้งานทำให้มีการปรารภว่างานวิจัยในมหาวิทยาลัยยังนำไปผลิตไม่ได้ ภาพแห่งความเป็นจริงจึงยังเป็นปัญหา บพข.คือหน่วยงานที่ไปเชื่อมโยงงานวิจัย ระหว่างนักวิจัยและเอกชนโดยให้ทุนเพื่อลดความเสี่ยงแก่ผู้ประกอบการ 80 เปอร์เซนต์เอกชนลงทุน 20 เปอร์เซนต์ เพราะการเชื่อมโยงระหว่างเอกชนและนักวิจัยเป็นเรื่องสำคัญ นักวิจัยยังขาดความเข้าใจเรื่องการพัฒนาเชิงพาณิชย์และช่องทาง รวมถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค
ด้าน ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีความสำคัญใน 2 ด้าน คือความรู้และบุคลากร แต่ถ้ามองว่ามหาวิทยาลัยที่ใคร ๆ ก็อยากเรียน เช่น อ๊อกซฟอร์ด(University of Oxford) เพราะจบออกไปที่ไหนก็อยากรับเข้าทำงาน จึงอยากให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่ามหาวิทยาลัยต้องการบุคลากรที่มีความรู้แบบไหน จะทำให้เกิดผลผลิตที่สามารถไปทำงานที่ไหนบนโลกใบนี้ได้ บริษัทยักษ์ใหญ่อยากได้ตัวไปทำงาน
ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในสมัย รัชกาลที่ 5 เกิดจากวิสัยทัศน์ของพระองค์ในการเสด็จประพาสต้นและประพาสยุโรป ทำให้ทรงรู้ทั้งตนเองและรู้โลกกำลังเป็นเช่นไรจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมายเซ็ทของผู้บริหารจึงต่้องมองไปข้างหน้าให้กว้าง เรามีคนเก่งมากแค่ไหน ถ้ามีน้อยต้องหาหุ้นส่วนที่มีความสามารถมาร่วม โดยเฉพาะความสามารถในการดึงเม็ดเงินจากนอกประเทศเข้ามา ไม่ต้องแย่งเงินวิจัยจากในตะกร้าอย่างเดียว แต่ต้องไปดึงเงินในตะกร้าใบใหญ่จากภายนอก มูลนิธิจากต่างประเทศเช่น ร็อกกี้เฟลเลอร์ มิรินด้าเกตส์ เขาอยากให้ทุนแต่งานของเราไม่มากพอ นวัตกรรมทำแล้วไม่ได้ขาย จึงอยากให้เปลี่ยนมุมมองเป็น Dream Thailand to Global นอกจากนี้โลกยุคใหม่มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วความรู้สั้นลง มหาวิทยาลัยจะต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ทุกช่วงวัย เรียนรู้ในเชิงลึกและจะต้องมีการพัฒนาทักษะให้พลเมืองมีความกระตือรือร้น กระฉับกระเฉง มีจินตนาการ และสร้างศักยภาพในการสังเกตและมองเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็นด้วย