สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โชว์ผลงานเด่น มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 “นวัตกรรมอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งจากลมหายใจ” สร้างโมเดลการแปลงค่าจากเซ็นเซอร์ โดยสอบเทียบกับก๊าซมาตรฐานสารอินทรีย์ระเหยง่าย ช่วยคัดกรองโรคมะเร็งได้อย่างง่าย ลดภาระค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสามารถเข้ารับการตรวจได้สะดวก รวดเร็ว
วันนี้ (23 พ.ย.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดเวทีเสวนา Research Expo Talk ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021)” ครั้งที่ 16 วช. ได้นำ “นวัตกรรมอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งจากลมหายใจ” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ ดร.วรรณา เลาวกุล แห่ง กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และคณะ มานำเสนอในการเสวนา Research Expo Talk ณ เวที Mini Stage ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานภายใต้ อว. มีบทบาทสำคัญ ในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัยและนวัตกรรมมีผลงานวิจัยและนวัตกรรมดีที่ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์และผู้ใช้ประโยชน์แล้วจำนวนมาก โดยนวัตกรรมอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งจากลมหายใจ ที่มาจัดแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ วช. ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัย เนื่องจากเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม ในการช่วยคัดกรองโรคมะเร็งได้อย่างง่าย อีกทั้งช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งสามารถเข้ารับการตรวจได้สะดวก รวดเร็ว และหากพบว่าเป็นมะเร็งเบื้องต้น ก็จะสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างถูกวิธี
ดร.วรรณา เลาวกุล หัวหน้าคณะวิจัย กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง
ของประเทศไทยอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งขึ้นกับชนิดและระยะของโรค โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมะเร็งเข้ารับการรักษาช้าทำให้มีโอกาสรอดชีวิตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น การรักษาให้ได้ผลดีควรตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มต้น แต่การตรวจคัดกรองปัจจุบัน เช่น มะเร็งปอด ใช้วิธีการทำ CT Scan ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงและเสี่ยงกับการสัมผัสรังสี ดังนั้น กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมจึงได้บูรณาการวิจัยร่วมกับวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการพัฒนานวัตกรรมอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งจากลมหายใจ ซึ่งมีราคาถูก สามารถเข้าถึงได้ง่าย และช่วยคัดกรองมะเร็งในเบื้องต้น เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะสามารถรักษาให้หายขาดและมีโอกาสรอดชีวิตได้มากขึ้น พร้อมทั้งเป็นการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการประเมินความเสี่ยงมะเร็งของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
สำหรับนวัตกรรมอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งจากลมหายใจ เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยประเมินความเสี่ยงมะเร็งจากลมหายใจ มีคุณสมบัติใช้งานง่าย เพียงเป่าลมหายใจเข้าไปในเครื่อง และใช้เวลาประมวลผลเพียง 20 วินาที ก็สามารถประเมินผลออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ ว่ามีแนวโน้มควรเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งหรือไม่ ปัจจุบันได้มีการทดสอบการใช้งานนวัตกรรมอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งกับผู้ป่วยมะเร็งปอดและกลุ่มคนปกติในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พบว่าประสิทธิภาพของนวัตกรรมดังกล่าวมีความแม่นยำถึง 70% ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาและต่อยอดนวัตกรรม นำไปขยายผลประเมินความเสี่ยงของประชาชนผู้ได้รับหรือสัมผัสสารมลพิษทางอากาศ เช่น พื้นที่ปัญหาหมอกควัน เป็นต้น รวมถึงการทำให้นวัตกรรมดังกล่าวมีขนาดเล็กลง สามารถพกพาได้สะดวก อีกทั้งสามารถแสดงผลผ่านสมาร์ทโฟนได้ และหากภาคเอกชนที่สนใจสามารถร่วมบูรณาการพัฒนาอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป