xs
xsm
sm
md
lg

สองสามีภรรยาเกษตรกรต้นแบบเมืองน้ำดำ เลี้ยงโคขุน-ทอผ้าแทนทำนาทำไร่รับทรัพย์ตลอดปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาฬสินธุ์ - สองสามีภรรยาเกษตรกรต้นแบบชาวสหัสขันธ์ ทิ้งอาชีพทำนา ปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง หันมาทำฟาร์มเลี้ยงโคขุน 3 สายพันธุ์ เลี้ยงง่าย รายได้ดี และสบายกว่าทำการเกษตรที่ต้นทุนสูงราคาขายผลผลิตไม่แน่นอน ทั้งยังมีเวลาว่างรวมกลุ่มกับเพื่อนบ้านทอผ้าไหมแท้เป็นสไบแพรลายตาคู่ ซึ่งเป็นลายประจำตำบล ส่งขายสร้างรายได้ตลอดปี


มีครอบครัวสองสามี-ภรรยาชาวบ้านโพนสวาง หมู่ 4 ต.นามะเขือ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้หันหลังให้อาชีพเกษตรกรรม ทั้งทำนา ปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง โดยเปลี่ยนอาชีพใหม่ คือการทำฟาร์มเลี้ยงโคขุน 3 สายพันธุ์ ทั้งบราห์มัน ชาโรเลส์ และแองกัส ใช้เวลาเพียง 3 ปีประสบความสำเร็จ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านปศุสัตว์ระดับอำเภอ ทั้งยังมีเวลาว่างปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าไหมส่งขายสร้างรายได้ตลอดปี ในแต่ละวันจะมี “นายฮ้อย” และผู้ประกอบการค้าขายโค รวมทั้งมีคณะศึกษาดูงานจากต่างถิ่นแวะเวียนมาติดต่อและสอบถามอย่างต่อเนื่อง

นายประเสริฐ นครชัย อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 155 หมู่ 4 บ้านโพนสวาง เล่าว่า เดิมครอบครัวตนทำนา 9 ไร่ ปลูกอ้อย 10 ไร่ และปลูกมันสำปะหลัง 10 ไร่ ระยะหลังประสบปัญหาขาดทุนเนื่องจากปุ๋ยแพง ค่าแรงสูง บางปีฝนทิ้งช่วง ผลผลิตตกต่ำ ไม่คุ้มทุน ทำมากี่ปีๆ ก็ย่ำอยู่กับที่ เมื่อปี 2561 จึงคิดหาทางออกที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และความชอบของตนเอง คือการเลี้ยงโคเนื้อ เนื่องจากเนื้อโคเป็นที่นิยมของผู้บริโภคตลอดปี และราคาซื้อขายเริ่มขยับสูงขึ้น เริ่มแรกหาซื้อแม่โคลูกผสมสายพันธุ์บราห์มันที่กำลังตั้งท้องมา 5 ตัว เพื่อร่นเวลาในการเลี้ยง




หลังจากนั้นไม่นาน แม่โคทั้ง 5 ตัวออกลูกมาก็ได้จำนวนโคในคอกเพิ่มขึ้นเป็น 10 ตัว ก็เลี้ยงมาเรื่อยๆ มีโอกาสก็หาซื้อแม่โคที่กำลังตั้งท้องเพิ่มเข้ามา จำนวนโคก็เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นฟาร์มโคขนาดย่อมๆภายในเวลาไม่นานนัก เมื่อลูกโคโตได้ขนาดและน้ำหนักพอขาย ก็จะขายเพศผู้ออกไปเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนซื้อโคเพศเมียเข้ามาเพิ่ม

โดยจะเลี้ยงและรักษาโคตัวเมียเพื่อขยายพันธุ์ในฟาร์ม ทั้งนี้ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค นอกจากจะเลี้ยงหรือขุนโคสายพันธุ์บราห์มันแล้ว ยังนำสายพันธุ์ชาโรเลส์ และแองกัส ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วไปมาเลี้ยงด้วย

“การเลี้ยงโคขุนของเราทำง่ายๆ ขังอยู่ในคอกและอยู่ในบริเวณจำกัด ไม่ได้ปล่อยเลี้ยงกลางทุ่ง อาหารมีทั้งหญ้าสด ฟาง และอาหารเสริม มีกินเพียงพอตลอดปี เนื่องจากเปลี่ยนพื้นที่ทำนา 9 ไร่เป็นนาหญ้า 8 ไร่ ขุดบ่อกักเก็บน้ำ 1 ไร่เพื่อหล่อเลี้ยงนาหญ้า” นายประเสริฐกล่าว และว่า

ขณะที่พื้นที่ที่เคยปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง รวม 20 ไร่ ให้เพื่อนบ้านเช่าทำกิน จึงมีเวลาดูแลโคขุนในฟาร์มอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ได้ลงนามความร่วมมือกับผู้ประกอบการรับซื้อโคขุน ขายทั้งตัวราคาซื้อขายทุกสายพันธุ์ราคาเดียวกันคือกิโลกรัมละ 100 บาท โดยโคอายุ 2 ปีน้ำหนักตัวละประมาณ 400-500 กิโลกรัมก็เริ่มขายออกได้ จะได้ราคาตัวละ 40,000-50,000 บาท

นางเกสร ฆารไสย อายุ 52 ปี ภรรยานายประเสริฐ
ด้านนางเกสร ฆารไสย อายุ 52 ปี ภรรยานายประเสริฐ กล่าวเสริมว่า หลังจากเลิกทำนาทำไร่มาเลี้ยงโคอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2561 เพราะมองว่าน่าจะมีอนาคตดีกว่าการทำนา ปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง จึงได้ร่วมกับเพื่อนบ้านที่ต้องการเลี้ยงโคไปขอคำปรึกษาจากปศุสัตว์ อ.สหัสขันธ์ และ ธ.ก.ส.สาขาสหัสขันธ์ จากนั้นเข้าร่วมโครงการสร้างอาชีพเพื่อขอสินเชื่อเป็นทุนจัดซื้อแม่โคมาเลี้ยงและขยายพันธุ์ ซึ่งที่ผ่านมามีการเลี้ยงโคเนื้อและโคขุนจำหน่ายหมุนเวียนเรื่อยมา ทำให้มีรายได้ใช้หนี้และจัดซื้อแม่โคเพิ่มเข้ามา ปัจจุบันมีโคในฟาร์ม 40 ตัว

“การเลี้ยงโคขุนเลี้ยงง่าย ไม่ต้องปล่อยเลี้ยงกลางทุ่ง ไม่เหนื่อยเหมือนทำการเกษตร แค่ไปตัดหญ้าที่นาหญ้า และซื้อฟางข้าวอัดก้อนมาตุนไว้ให้โคกิน ถึงเวลาก็ให้อาหารเสริมเท่านั้น จึงมีเวลาว่างเยอะ ทำให้มีโอกาสทำอาชีพอื่นเสริมมากขึ้น ซึ่งการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้าถือเป็นภูมิปัญญาที่ชาวบ้านเราทำกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายอยู่แล้ว เพียงแต่หาเวลาทำไม่ได้เท่านั้น” นางเกสรเล่า และบอกอีกว่า

ดีใจมากที่ได้มีเวลามีโอกาสสานต่ออาชีพทอผ้าอย่างเต็มที่ โดยการสนับสนุนของทางอำเภอสหัสขันธ์ และพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ โดยรวมตัวกลุ่มแม่บ้านตั้งกลุ่มปลูกหม่อนไหมเหลืองบ้านโพนสวาง มีสมาชิกกลุ่ม 16 คน กิจกรรมกลุ่มมีปลูกหม่อน เลี้ยงไหม รวมทั้งทุกกระบวนการทั้งสาวไหม เข็นไหม ทอผ้า ตัดเย็บ และแปรรูป


สำหรับเส้นไหมที่ผลิตได้เป็นไหมแท้ สีเหลือง ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของกลุ่มเราที่ตลาดต้องการมากที่สุดคือสไบไหมลายตาคู่ ซึ่งเป็นลายประจำตำบลนามะเขือ ขายผืนละ 500 บาท ขณะที่ผ้าผืนหรือผ้าซิ่นไหม ขายผืนละ 2,500 บาท โสร่งผืนละ 3,000 บาท โดยนำไปขายตามตลาดนัดสินค้าโอทอป และทางออนไลน์ เซอร์ปอนด์ GPS Music

ทั้งนี้ จากความสำเร็จของการทำฟาร์มเลี้ยงโคขุน และทอผ้าไหมลายตาคู่ขายตลอดปี ทำให้มีนายฮ้อยหรือผู้ประกอบการค้าขายโคมาติดต่อซื้อเป็นประจำ รวมทั้งมีคณะศึกษาดูงานจากต่างถิ่นแวะเวียนมาสอบถามวิธีการเลี้ยงโคขุนอย่างต่อเนื่อง เป็นอีกความภาคภูมิใจที่ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้เพื่อนเกษตรกรด้วยกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น