xs
xsm
sm
md
lg

“มข.” ผนึก “ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์” เซ็น MOU ยกระดับการศึกษา ป้อนครูโรงเรียนขาดแคลน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวขอนแก่น - มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผนึกทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการด้านพัฒนาบุคลากรการศึกษา มุ่งยกระดับคุณภาพการศึกษา หวังป้อนครูไปยังโรงเรียนที่ขาดแคลน

วันนี้ (14 ธ.ค.) ที่ห้องประชุม 101 สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) นายสุรพล เพชรวรา อุปนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน และอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันดิเอโก ประเทศชิลี เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน และสาขาวิชาคณิตศาสตร์ศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์


มี รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสําหรับอาเซียน ปฏิบัติการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ลงนามฝ่ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมทั้งนายวิชิตพล ผลโภค ผู้บริหารและผู้ก่อตั้งมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ผู้ลงนามฝ่ายมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ พร้อมทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารสถาบัน และบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าร่วมในพิธีลงนาม

การลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญของมหาวิทยาลัยในการร่วมมือกับองค์กรเอกชนชั้นนำของไทยในการยกระดับคุณภาพการศึกษา ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและเอกชนในฐานะผู้ประกอบการ ร่วมกันจัดฝึกอบรม และสนับสนุนให้เกิดโครงการวิจัยขนาดใหญ่ อีกทั้งยังสนับสนุนนโยบายมหาวิทยาลัยและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เรื่องการสร้างหลักประกัน ทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต (SDG4)

นายสุรพล เพชรวรา อุปนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน กล่าวว่า จาการที่มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ จัดหาคนมาเพื่อส่งเสริมภาครัฐในการสอนหนังสือให้เด็กๆ ตามโรงเรียนที่ขาดแคลนครู แต่ทักษะการสอนหรือศิลปะการสอนอาจจะขาด แต่เด็กเหล่านั้นมาด้วยใจ มีความรู้เต็มเปี่ยม เช่น จบวิศวะมา หรือสาขาอื่นมา อยากจะมาเป็นครูทำงานร่วมกับเด็กๆ

ประเด็นคือครูเหล่านี้ขาดทักษะการสอน ขาดเทคนิค และขาดศิลปะการสอน ซึ่งการจะไปสอนหนังสือในประเทศไทย สิ่งสำคัญคือต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู เหมือนกับพยาบาลจะเป็นพยาบาลได้ต้องมีใบประกอบวิชาชีพพยาบาล ฉะนั้นไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูก็ไปสอนไม่ได้




นายสุรพล กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้การลงนามในวันนี้ จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีของสถาบันวิจัยที่จะร่วมมือกับทีช ไทยแลนด์ ทำงานวิจัยว่าจะทำอย่างไรที่จะซัปพอร์ตคนเหล่านี้ให้ไปสอนในโรงเรียนที่ขาดแคลนครูได้อย่างมีคุณภาพ ไม่มีปัญหาหรืออุปสรรค อาศัยความรู้ อาศัยใจที่จะให้ ซึ่งวิธีการสอน ศิลปะการสอนจะได้จากสถาบันวิจัย และจากสาขาวิชาคณิตศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ เพิ่มเติมให้กับครู จึงเป็นที่มาของการลงนามในวันนี้

ด้านนายวิชิตพล ผลโภค ผู้บริหารและผู้ก่อตั้งมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ กล่าวว่า บริษัทฯ เป็นหน่วยงานเอกชน มีความยินดีร่วมงานกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อสร้างเครือข่ายให้มูลนิธิฯ ใบขับขี่หรือใบประกอบวิชาชีพที่จะแสดงถึงความสามารถจะทำให้เราเป็นครูได้ นานกว่า 2 ปี เพราะได้ให้คนได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ การลงนามกับสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสําหรับอาเซียน เป็นการขับเคลื่อนอีกรูปแบบในการสร้างระบบในทีชไทยแลนด์ เป็นการติดอาวุธให้คุณครูด้วย


ด้าน รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสําหรับอาเซียน ปฏิบัติการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า คณะศึกษาศาสตร์ มีหน้าที่ผลิตครู และรับคนจบปริญญาตรีมาเพื่อทำงานเข้าสู่ระบบ ภาคเอกชนโดยทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ได้เข้ามาทำงานพัฒนาครูในอีกแบบหนึ่ง ซึ่งจะไม่ใช่แค่สอนหนังสือเพียงอย่างเดียว

คณะศึกษาศาสตร์ สถาบันพัฒนาวิชาชีพครูอาเซียน สามารถทำหลักสูตร non degree แนะนำหน่วยงาน เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา ซึ่งจะทำให้ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ที่มาทำงานร่วมกันสามารถไปต่อได้ ให้มีคุณสมบัติครบต่อการสอบใบอนุญาต ใบประกอบวิชาชีพครู เพื่อเข้าสู่ระบบได้ เป็นส่วนสำคัญในความร่วมมือครั้งนี้ ซึ่งการลงนามครั้งนี้เป็นการออกจากจุดสตาร์ทที่สำคัญ การร่วมแรงร่วมใจเป็นพันธมิตรกันจะสร้างความแตกต่างด้านการศึกษาให้ประเทศไทยได้


กำลังโหลดความคิดเห็น