xs
xsm
sm
md
lg

สจล. เก่ง คิดค้น“น้ำอ้อยซินไบโอติก” เสริมภูมิคุ้มกัน คว้าเหรียญเงิน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทีมนักศึกษา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คิดค้นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพยุคใหม่ “น้ำอ้อยซินไบโอติก” ผสมคอลลาเจนและแคลเซียม อุดมประโยชน์ ช่วยเรื่องระบบขับถ่ายและเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตร ล่าสุด คว้าเหรียญเงิน รางวัลประกวดนวัตกรรมสายอุดมศึกษา จากมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2564

ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพกำลังเป็นที่นิยมบริโภคอย่างมาก ประชาชนส่วนใหญ่หันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ หรือ Functional Beverage ในรูปแบบ Plant Base จึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ นอกจากนี้ การหยิบยกวัตถุดิบทางการเกษตรที่สำคัญ หรือที่กำลังประสบปัญหามาใช้ประโยชน์ ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ทั้งผลิตภัณฑ์และผลิตผลทางการเกษตร เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับคุณประโยชน์สูงสุด

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิ่นมณี ขวัญเมือง รองคณบดีกำกับดูแลงานด้านประกันคุณภาพการศึกษาและวิจัย ภาควิชา
ครุศาสตร์เกษตร ในฐานะที่ปรึกษาโครงการหลัก เปิดเผยว่า ทีมวิจัยเล็งเห็นว่า “อ้อย” เป็นพืชที่มีราคาถูก หาได้โดยทั่วไป และยังไม่พบการนำมาแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอย่างจริงจัง ทั้งที่มีคุณประโยชน์อยู่มาก จึงได้คิดค้นน้ำอ้อยซินไบโอติกขึ้น โดยมีลักษณะคล้ายกับนมเปรี้ยว จุดเด่น คือ เป็นเครื่องดื่มที่มาจากพืชแท้ ๆ ผสมพรีไบโอติก (อาหารของจุลินทรีย์ฯ) เข้าไว้ด้วยกัน และหมักด้วยโพรไบโอติก (จุลินทรีย์แลคโทบาซิลลัส) ทำให้จุลินทรีย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้นาน และเข้าไปช่วยปรับสภาพของระบบทางเดินอาหารให้มีสุขภาพที่ดี โดยใช้น้ำอ้อยแท้เป็นส่วนประกอบถึง 50% โดยไม่เติมน้ำตาล อีกทั้งยังมีส่วนผสมจากพืชอื่น ๆ ได้แก่ น้ำแครอท น้ำมันแกว และน้ำสับปะรด นอกจากนี้ยังปราศจากน้ำตาลแลคโตส ดังนั้น ผู้ที่แพ้นมวัวจึงสามารถทานได้ อีกทั้งยังผสมคอลลาเจนและแคลเซียม ทำให้เครื่องดื่มมีคุณประโยชน์สูงสุด โดยน้ำอ้อยซินไบโอติก 1 ขวด ในปริมาณ 100 มิลลิลิตร ประกอบด้วยสารอาหารที่ควรได้รับต่อวันอย่างเพียงพอ สามารถช่วยเรื่องระบบขับถ่าย และ Detox ลำไส้ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย พร้อมทั้ง เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี ซึ่งเกษตรกรชาวไร่อ้อย และภาคเอกชนมีความสนใจให้ทีมวิจัยถ่ายทอดนวัตกรรมให้อีกด้วย

นางสาวกานต์พิชชา สกุนตศรี หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัย กล่าวเสริมว่า สำหรับรางวัลระดับดีมาก ในการประกวดนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร รางวัลเหรียญเงิน ที่ได้รับจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2564 ที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ในการนำเสนอผลงานออกสู่สาธารณะแก่ผู้ที่สนใจนำนวัตกรรมไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ และอนาคตยังมองหาวัตถุดิบอื่น ๆ มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการแปรรูป ให้สามารถยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ให้นานยิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรในคราวเดียวกัน อย่างไรก็ตาม น้ำอ้อยซินไบโอติก ถือเป็นเครื่องดื่มแนวใหม่ในกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ (functional beverage) ที่กำลังได้รับความนิยมในสายคนรักสุขภาพ สามารถต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรม และส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมได้ นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้รับรางวัลเหรียญเงิน (ระดับดี) จากผลงานสแน็คกรอบโภชนาการสูงจากผลพลอยได้ของขนุน ซึ่งเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวโดยใช้เมล็ดและซังขนุน มาเสริมด้วยโปรตีนจากถั่วเหลือง และเมล็ดพืชอื่น ๆ เพื่อเป็นขนมที่ให้สารอาหารอย่างครบถ้วนอีกด้วย

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ความสำคัญต่อการสร้างนักวิจัยและนักประดิษฐ์ เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในสถาบันการศึกษา โดยส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะและเทคนิคด้านนวัตกรรม กระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้เกิดความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนา อันเป็นการสร้างและพัฒนาเยาวชนให้เป็นนักวิจัยและนักประดิษฐ์ที่มีคุณภาพ มีศักยภาพในการเติบโตเป็นบุคลากรทางการวิจัยของประเทศต่อไปได้ สำหรับน้ำอ้อยซินไบโอติก ผสมคอลลาเจนและแคลเซียม นับเป็นผลงานสร้างสรรค์ โดยนักเรียน นักศึกษารุ่นใหม่ ที่มีความสนใจแก้ไขปัญหาของประเทศด้วยวิจัยและนวัตกรรม วช.จึงได้มอบรางวัลแก่ทีมวิจัยในครั้งนี้


















กำลังโหลดความคิดเห็น