หนองคาย - บริษัทขนส่งเอกชนของไทยนำสินค้าขนส่งทางรางจากแหลมฉบัง ผ่านด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว หนองคาย ร่วมพิธีเปิดด่านสากลท่าบก ท่านาแล้ง สปป.ลาว รองรับการเปิดเดินรถไฟลาว-จีน วอนรัฐส่งเสริมพัฒนาพื้นที่คอนเทนเนอร์ยาร์ดสถานีหนองคายให้มีประสิทธิภาพ ชี้อนาคตขนส่งทางรางสดใส ลดต้นทุนการขนส่ง ลดความเสี่ยงโควิดระบาด
เมื่อเวลา 08.30 น. วันนี้ (4 ธ.ค.) ที่สถานีรถไฟหนองคาย เจ้าหน้าที่ศุลกากรหนองคาย และเจ้าหน้าที่รถไฟหนองคายได้ร่วมกันตรวจปล่อยขบวนตู้คอนเทนเนอร์ของบริษัทบางกอกเทอร์มินอลโลจิสติกส์จำกัด (BTL) ซึ่งได้ขนสินค้าจากแหลมฉบังไปยังสถานีท่านาแล้ง สปป.ลาว เพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดด่านสากลท่าบกท่านาแล้ง (Grand Opening Thanaleng Dry Port International Border Checking Point, Cargo Terminal) และร่วมเฉลิมฉลองการเปิดเดินรถไฟลาว-จีน โดยในเช้าวันนี้ทาง สปป.ลาว ได้มีพิธีเปิดด่านสากลอย่างเป็นทางการ
โดยมี นายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีแห่ง สปป.ลาว เป็นประธาน ซึ่งได้มีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนของ สปป.ลาว และภาคเอกชนของไทยเข้าร่วมพิธีด้วย
นางสาววราภรณ์ จึ่งเจริญ ผู้จัดการทั่วไป บริษัทบางกอกเทอร์มินอลโลจิสติกส์ จำกัด (BTL) กล่าวว่า ทางบริษัท BTL เป็นผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ครบวงจร ทั้งการขนส่งทางรถบรรทุกและรถไฟ สนับสนุนโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้ขนส่งสินค้าด้วยระบบรางจากแหลมฉบังไปยังสถานีท่านาแล้ง สปป.ลาวมาตั้งแต่ปี 2562 และขยายการให้บริการไปจนถึงประเทศจีนผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีนอย่างมีประสิทธิภาพ
ในครั้งนี้เป็นการขนส่งสินค้าวัตถุดิบทางการเกษตรไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ เดินทางจากแหลมฉบังด้วยบริการขนส่งทางราง ผ่านสถานีรถไฟหนองคาย สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 อ.เมืองหนองคาย มุ่งหน้าสู่สถานีท่านาแล้ง สปป.ลาว จำนวน 12 แคร่ การเปิดใช้ท่าบกท่านาแล้งเป็น Dry Port ในครั้งนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีในการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้มีประสิทธิภาพ สามารถขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์จากไทย-ลาว-จีน และจากจีน-ลาว-ไทยได้ รวมถึงการส่งต่อไปยังประเทศที่สี่ผ่านประเทศไทยด้วย
ซึ่งการขนส่งทางรางจะช่วยตอบโจทย์และมาทดแทนปัญหาการขนส่งสินค้าทางเรือและทางบก เช่น ความไม่เพียงพอของเรือหรือระวางสินค้าในการขนส่งทางทะเล และการขนส่งทางถนนซึ่งมีต้นทุนค่าขนส่งที่สูงกว่า การลดปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน ยิ่งในสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด การลดจำนวนขนส่งทางรถมาเป็นทางรางก็ช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อทางลาวมีท่าบกท่านาแล้งเป็นจุดเชื่อมต่อในการขนส่งสินค้าแล้ว ในขณะเดียวกัน ภาคเอกชนมองว่าต้องการให้รัฐบาลไทยส่งเสริมในการพัฒนาพื้นที่คอนเทนเนอร์ยาร์ด (CY) ลานบรรจุสินค้า (CFS) ในจังหวัดหนองคายที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวก และการบริหารจัดการด้านการขนส่งทางรางได้สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น รองรับการเจริญเติบโตในการขนส่งทางรางให้มากขึ้นในอนาคต