ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ยื่นร้องตรวจสอบ ผอ.รพ.ขอนแก่นได้ไม่ถึงเดือน องค์กรแพทย์ฯ เปิดแถลงย้ำครบ 1 เดือนยังไม่คืบหน้านัดหารือท่าทีเคลื่อนไหวต่อ หากถ่วงเวลาให้ล่าช้ายิ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการมากขึ้น
เผย “หมอเกรียงศักดิ์” นั่งบริหารได้ไม่กี่วันสั่งปลดกรรมการตรวจสอบภายในและกรรมการอีกหลายชุดทิ้งหมด
ปิดประตูตรวจสอบความโปร่งใสสร้างธรรมาภิบาลภายในองค์กร
โรงพยาบาลขอนแก่นกลายเป็นแดนสนธยาไปโดยปริยาย ภายหลัง “หมอฉิก” นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกุลเกียรติ ได้ย้ายจากโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมามานั่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่นสำเร็จนับแต่วันที่ 5 ต.ค. 64 ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้หมอฉิกเคยได้รับการแต่งตั้งให้มานั่งเก้าอี้บริหารสูงสุดโรงพยาบาลขอนแก่นมาแล้วถึง 2 ครั้งแต่ถูกบุคลากรทางการแพทย์เคลื่อนไหวต่อต้าน ปลัดกระทรวงฯ ขณะนั้นต้องโยกไปลงตำแหน่งเดียวกันที่โรงพยาบาลอื่นไปพลาง
หลัง นพ.เกรียงศักดิ์นั่งบริหารได้เดือนเศษ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 64 ที่ผ่านมาตัวแทนกลุ่มองค์กรแพทย์ รพ.ขอนแก่นได้รวมตัวเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่นเพื่อให้ตรวจสอบความโปร่งใสในการบริหารงานของ นพ.เกรียงศักดิ์ โดยเฉพาะกรณีการจัดซื้อชุดตรวจ ATK ที่ส่อไปในทางมิชอบ รวมถึงอีกหลายประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับ รพ.ขอนแก่นหลังการเข้ามาบริหารของ นพ.เกรียงศักดิ์ได้ไม่ถึงเดือน
ล่าสุด พญ.จรรยาภรณ์ รัตน์โกศล อดีตประธานคณะกรรมการควบคุมภายในรับแจ้งเรื่องศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ รพ.ขอนแก่น พร้อมตัวแทนองค์กรแพทย์ รพ.ขอนแก่นได้เปิดโต๊ะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอีกครั้ง โดย พญ.จรรยาภรณ์ระบุถึงเหตุผลที่ต้องแถลงข่าวในครั้งนี้ว่าบุคลากรทางการแพทย์ภายในโรงพยาบาลอึดอัดกับการบริหารงานของ ผอ.เกรียงศักดิ์ที่ไม่ยึดตามระเบียบข้อบังคับใดๆ ทั้งการจัดซื้อ การแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ หรือแม้แต่การเบิกค่าใช้จ่ายนอกงบประมาณโดยไม่ผ่านมติบอร์ดโรงพยาบาล
ในส่วนของการยื่นหนังสือต่อนายแพทย์ สสจ.ขอนแก่นเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 64 นั้น ทางสาธารณสุขจังหวัดได้แจ้งว่าการยื่นข้อร้องเรียนดังกล่าวเป็นสิทธิตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง แต่ด้วยเกินอำนาจหน้าที่ของสำนักงานสาธารณสุข จึงได้รับเรื่องและส่งต่อให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการ ซึ่งทางองค์กรแพทย์ รพ.ขอนแก่นก็จะรอให้ครบ 1 เดือน หากไม่มีความคืบหน้า ไม่มีการตอบสนองข้อเรียกร้องจากกระทรวงฯ ก็จะนัดหารือกันเพื่อกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหวเพื่อนำความเป็นธรรมาภิบาลคืนสู่ รพ.ขอนแก่นต่อไป
อย่างไรก็ตาม พญ.จรรยาภรณ์กล่าวต่อว่า ในขณะที่ผู้ที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการชี้แจงใดๆ ออกมา แต่หลังจากพวกเราได้ยื่นหนังสือร้องเรียนผ่านไปแค่ 7 วัน นพ.เกรียงศักดิ์กลับมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลชุดใหม่ มีการปลดคณะกรรมการที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการกลั่นกรอง ตรวจสอบและธรรมาภิบาล จำนวนทั้งหมด 9 คณะ ไม่ให้คณะกรรมการดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ต่อ และเป็นที่ประจักษ์ชัดคือคณะกรรมการบริหารชุดใหม่นั้นไม่มีประธานคณะกรรมการตรวจสอบภายใน มีเพียงประธานคณะกรรมการควบคุมภายในที่ตั้งขึ้นมาใหม่
ปัญหาไม่มีการแต่งตั้งประธานคณะกรรมการตรวจสอบภายในดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่ที่น่าวิตกมาก เพราะเท่ากับว่าจะไม่มีกระบวนการตรวจสอบภายในของโรงพยาบาลขอนแก่นอีกต่อไป อาจส่งผลเสียหายต่อทางราชการได้ ใครทำผิดหรือมีการยักยอกฉ้อราษฎร์บังหลวงก็จะไม่มีการตรวจสอบลงโทษ
ด้าน พญ.รักฝัน สวัสดิ์พาณิชย์ ประธานองค์กรแพทย์โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวต่อว่า อีกประเด็นที่ผิดปกติและควรมีการตรวจสอบคือภายในเวลาไม่กี่วันภายหลัง ผอ.ท่านใหม่เข้ามานั่งบริหารได้มีการสั่งโยกย้ายหัวหน้ากลุ่มงานที่ไม่เหมาะสม ไม่มีเหตุผล เป็นการสั่งโยกย้ายกะทันหัน ไม่แจ้งให้ผู้ที่ถูกสั่งย้ายและหน่วยงานที่รับย้ายให้ได้รับทราบว่าเหตุใดต้องสั่งย้าย การสั่งย้ายก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทางราชการด้านใดอย่างไร การสั่งย้ายทุกตำแหน่งสร้างความเสียหายต่อทางราชการไม่น้อย
ส่วนประเด็นที่องค์กรแพทย์ฯ ได้ร้องเรียนขอให้มีการตรวจสอบกรณีการจัดซื้อชุดตรวจ ATK การสร้างห้องแล็บขึ้นมาใหม่และการซื้อน้ำยาตรวจ PCR Covid-19 จำนวนมากเกินปริมาณการใช้จริง ซึ่งผู้บริหารยังมีการจัดซื้ออย่างต่อเนื่อง จึงอยากให้หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขเร่งเข้ามาตรวจสอบพิจารณาถึงความเหมาะสมที่ยังมีการจัดซื้อ รวมไปถึงขั้นตอนการจัดซื้อว่าถูกระเบียบทางราชการหรือไม่
“นับแต่ที่พวกเรายื่นหนังสือร้องเรียนต่อท่านสาธารณสุขจังหวัดไปเมื่อต้นเดือน จนถึงตอนนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ไม่มีคำสั่งหรือหน่วยงานใดในกระทรวงสาธารณสุขลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเหล่านี้เลย แม้ว่าทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นได้เสนอเรื่องไปยังกระทรวงแล้วก็ตาม หากปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปนานเท่าใดความเสียหายต่อทางราชการก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกอย่างควรตรวจสอบให้โปร่งใส”
พญ.รักฝันกล่าวต่อในส่วนของปริมาณการตรวจโควิดอีกว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เกิดการติดเชื้อแบบกลุ่มกระจายทั้งจังหวัดนั้น การตรวจเพิ่มเป็นประมาณ 400-500 ราย/วัน จำนวนตรวจสูงสุด 610 รายต่อวัน และเครื่องตรวจ PCR Covid-19 ที่โรงพยาบาลมีอยู่เดิม จำนวน 4 เครื่อง สามารถตรวจได้ถึง 1,600-1,800 ราย/วัน ซึ่งเกินพอต่อการให้บริการตรวจและมีเครื่องตรวจอัตโนมัติทุกขั้นตอนการตรวจ ช่วยลดเวลาตรวจ รายงานผล และลดความผิดพลาดในขั้นตอนการตรวจ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตั้งสร้างห้องตรวจใหม่พร้อมกับตั้งเป้าการตรวจคัดกรองมากถึง 3,000 ราย/วัน ถือเป็นการตั้งเป้าที่สูงเกินความจำเป็น บุคลากรทางการแพทย์ภายในโรงพยาบาลขอนแก่นจึงอดไม่ได้ที่จะตั้งข้อสังเกตว่าการสร้างห้องแล็บใหม่ดังกล่าวเพื่อใช้เป็นเหตุผลเป็นข้ออ้างที่จะทำเรื่องจัดซื้อน้ำยาในปริมาณมากด้วยงบก้อนใหญ่ขึ้นหรือไม่ และเครื่องตรวจใหม่ที่นำมาใช้ ยังพบว่าเป็นเครื่องตรวจที่ไม่มีการทำงานแบบอัตโนมัติทุกขั้นตอนเหมือนเครื่องเดิมที่มีอยู่อีกด้วย