ตาก - พบคู่ชายหญิงลงดอยเดินทางไกลนับร้อยกว่ากิโลฯ ควงแขนขึ้นอำเภออุ้มผางขอจดทะเบียนสมรส ปลัดฯ เห็นทั้งคู่มีนามสกุลเดียวกันต้องสอบประวัติกันวุ่น ดีที่พาญาติ-พยานช่วยยืนยันใช้นามสกุลผู้นำหมู่บ้านเหมือนกัน
วันนี้ (18 พ.ย. 64) ระหว่างที่นายรัตนกุล สังขศิลา ปลัดอำเภออุ้มผาง ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตรประจำอำเภออุ้มผาง กำลังปฏิบัติหน้าที่ให้บริการประชาชนตามปกติ ก็มีชายหญิงวัยกลางคนพร้อมญาติผู้ใหญ่และผู้ติดตามอีกหลายคนเดินเข้ามาที่ทะเบียนและบัตร ก่อนที่ชายหญิงทั้งคู่จะแจ้งความจำนงว่า มาขอจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมาย
แต่เมื่อนายรัตนกุล สังขศิลา ปลัดอำเภออุ้มผาง ได้ขอให้ทั้งคู่แสดงเอกสารสำคัญและบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อใช้ประกอบการดำเนินการจดทะเบียนสมรส ก็ต้องแปลกใจและอยู่ในอาการมึนงง เนื่องจากพบว่าบัตรประจำตัวประชาชนของชาย-หญิงที่ประสงค์ขอจดทะเบียนสมรสมีนามสกุลเดียวกัน
โดยฝ่ายชายชื่อนายโจมาไน กาญจนเจริญชัย อายุ 42 ปี เป็นชาวบ้านหมู่บ้านแม่จันทะ หมู่ที่ 8 ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก ส่วนบัตรประจำตัวของฝ่ายหญิงระบุชื่อนางสาวหน่อไม้ กาญจนเจริญชัย อายุ 43 ปี เป็นชาวบ้านบ้านแม่จันทะ หมู่ที่ 8 ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง เช่นเดียวกัน
ปลัดอำเภออุ้มผางจึงต้องเรียกสอบพยานแวดล้อมเป็นผู้ใหญ่บ้าน-พยานบุคคลอื่นๆอีกหลายคน เนื่องจากเกรงว่าคู่บ่าวสาวทั้งสองอาจจะเป็นพี่น้องร่วมสายเลือดเดียวกัน อันเป็นข้อห้ามในการจดทะเบียนสมรส โดยสอบถามหาที่ไปที่มาของการที่ทั้งสองมีนามสกุลเหมือนกันและอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน
นายโจมาไน กาญจนเจริญชัย ได้ให้การต่อเจ้าหน้าที่ว่าตนเกิดและโตมาในหมู่บ้านแม่จันทะ อ.อุ้มผาง ขณะที่ภรรยาชื่อ น.ส.หน่อไม้ กาญจนเจริญชัย ก็เกิดในหมู่บ้านเดียวกัน ใช้นามสกุลจากผู้นำหมู่บ้านมาจากอดีตและอยู่กินกันมานานถึง 25 ปี ก็ไม่ได้คิดว่าจะมีปัญหาอะไรและไม่ค่อยได้เดินทางมาติดต่อทางราชการในเมืองเลย เนื่องจากหมู่บ้านอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญการเดินทางยากลำบาก จนวันนี้ต้องมาขอจดทะเบียนสมรสเนื่องจากลูกชายต้องใช้เอกสารของพ่อแม่ไปใช้ในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น
ด้านนายรัตนกุล สังขศิลา ปลัดอำเภออุ้มผางหัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตรกล่าวหลังทำการสอบสวนหาข้อมูลว่า ทั้งคู่มีบ้านพักอยู่กลางป่าบนดอยสูง ห่างจากที่ว่าการอำเภออุ้มผางไปไกลกว่า 100 กิโลเมตร ติดแนวชายแดนไทย-เมียนมา การเดินทางยากลำบากในทุกฤดูกาล
และจากการสอบถามได้ข้อเท็จจริงว่าสาเหตุที่ทั้งสองมีชื่อนามสกุลเดียวกันนั้น เนื่องจากเมื่อครั้งที่ทั้งสองกำเนิดได้รับการเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้าน ซึ่งครั้งแรกได้ขอใช้ชื่อนามสกุลร่วมกับผู้นำหมู่บ้านและใช้กันมานานหลายสิบปี กระทั่งได้ร่วมแต่งงานกันตามประเพณีชนเผ่าในพื้นที่ป่าดอย แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย จนมีบุตร กระทั่งบุตรชายต้องใช้เอกสารการสมรสของคู่บิดามารดาเพื่อรับรองตามกฎหมาย จึงตัดสินใจเดินทางลงดอยใช้เวลานานนับวันเพื่อมาขอนายทะเบียนจดทะเบียนสมรสให้
ซึ่งจากการสอบสวนพยานหลายปากมาด้วยนั้นให้การสอดคล้องกันและสามารถพิสูจน์ได้ว่าทั้งสองคู่สมรสไม่ได้เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันและไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดเดียวกัน ทางนายทะเบียนอำเภออุ้มผางจึงได้ทำการจดทะเบียนสมรสให้ทั้งสองเป็นคู่สามีภรรยากันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สร้างรอยยิ้มแห่งความดีใจให้ทั้งสองสามีภรรยาได้สมหวังมีใบทะเบียนสมรสแบบถูกต้องตามกฎหมาย