บุรีรัมย์- คืบหน้า กรณีอดีตนายกอบต. หลบหนีคดีทุจริตจนหมดอายุความ แถมช่วงหนีคดียังลอบเบิกรับเงินเดือนค่าตอบแทนตามปกติ และกลับมาสมัครเลือกตั้งชิงเก้าอี้นายกอบต.อีก ล่าสุด กกต.บุรีรัมย์ชี้ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกม.เลือกตั้งเพราะยังไม่ต้องคำพิพากษาศาลถึงที่สุด ส่วนป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเป็นอำนาจตามกม.อื่นเอาผิด
วันนี้ (13 พ.ย. ) น.ส.ปิยนาฎ กลางพนม ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ระบุถึงกรณีที่มีอดีต ส.อบต.ร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติของอดีตนายก อบต.แห่งหนึ่ง ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด และหนีหมายจับคดีทุจริตจนหมดอายุความ และระหว่างหลบหนีคดียังเบิกรับเงินเดือน ค่าตอบแทน และเงินประจำตำแหน่งตามปกติ แถมมาลงสมัครรับเลือกตั้งนายก อบต.ได้อีก ว่า หลังจากที่มีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ (กกต.) จะแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งขึ้นมาชุดหนึ่ง และแต่งตั้งปลัด อบต. ซึ่งทำหน้าที่เป็น ผอ.กกต.ท้องถิ่น โดยตำแหน่งตามกฎหมาย พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งของ อบต.นั้นๆ และปลัด อบต. ในฐานะ ผอ.กกต.ท้องถิ่น มีหน้าที่สมัครรับเลือกตั้ง
การสมัครรับเลือกตั้ง ผู้สมัครจะต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา 49 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 50 ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งการเลือกตั้งนายกอบต. และ ส.อบต.ครั้งนี้ ได้มีการประกาศรับสมัครระหว่างวันที่ 11 – 15 ตุลาคม 2564 ซึ่งถ้าผู้ที่มาสมัครได้ยื่นเอกสารต่อ ผอ.กกต.ครบถ้วน ทาง กกต.ท้องถิ่นก็จะออกใบรับใบสมัครไว้ หลังจากนั้นเมื่อปิดสมัครรับเลือกตั้งภายใน 7 วันหลังจากปิดสมัครรับเลือกตั้ง จะมีระยะเวลาในการตรวจคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครแต่ละคนที่มายื่นใบสมัครไว้ภายใน 7 วัน
การตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายมาตรา 49 และมาตรา 50 โดย กกต.ท้องถิ่นจะส่งเรืองไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อทำการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม แต่หากหน่วยงานที่ส่งไปยังไม่ตอบกลับมา กกต.ท้องถิ่นจำเป็นจะต้องประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสมัครไปก่อน หลังจากนั้นเมื่อเอกสารหลักฐานต่างๆ ถูกส่งกลับมาก็จะมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ยังไม่ได้หยุดการตรวจสอบซึ่ง ผอ.กกต.ท้องถิ่น ยังมีอำนาจหน้าที่ที่จะสามารถตรวจสอบได้อยู่ และหลังจากนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้งหรือก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้ามีข้อมูลหลักฐานว่าผู้สมัครรายใดมีคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม ทาง กกต.จังหวัด ก็สามารถพิจารณาข้อมูลเหล่านี้ได้เช่นกัน
สำหรับกรณีนี้ที่มีการร้องเรียนไปเมื่อวันที่ 18 ต.ค.2564 ซึ่งยังเป็นห้วงเวลาที่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบของ ผอ.กกต.ท้องถิ่น ทาง กกต.จังหวัด ได้ส่งข้อมูลหลักฐานกลับไปให้ ผอ.กกต.ท้องถิ่นได้พิจารณา ซึ่งเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ทาง กกต.ท้องถิ่นได้ประกาศให้ผู้ที่ถูกร้องมีคุณสมบัติครบถ้วนในการสมัคร ซึ่งในข้อมูลตรงนี้ทาง กกต.จังหวัดได้ทำการตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว ว่า กรณีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลว่าบุคคลที่ถูกร้องเรียนได้กระทำผิดนั้น ซึ่งตามลักษณะต้องห้ามมาตรา 50 ยังไม่ถือว่าเข้าข่ายลักษณะต้องห้าม ซึ่งบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายจะต้องเป็นบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาศาลถึงที่สุด แต่ผู้ถูกร้องรายนี้ยังไม่มีคำพิพากษาศาลถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ จึงยังไม่เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 50 ของกฏหมายเลือกตั้ง
ส่วนที่มีการร้องเรียนว่าอดีตนายกฯ คนดังกล่าวได้มีการเบิกเงินเดือน ค่าตอบแทน และเงินประจำตำแหน่งช่วงที่หลบหนีหมายจับนั้น หาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดภายหลังที่มีการรับรองแล้วจะเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมาย ที่จะดำเนินการเอาผิดหรือถอดถอนออกจากตำแหน่ง ซึ่งจะอยู่ภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.จัดตั้ง ไม่ใช่ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ซึ่งจะไม่เกี่ยวกับ กกต.แล้ว