ปราจีนบุรี - รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ถือฤกษ์วันปิยมหาราช เปิดให้ประชาชนเข้าชมความงามด้านสถาปัตยกรรมในตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดีในหลวง ร.5 วันที่ 23 ต.ค.-30 พ.ย.นี้ หลังทุ่มงบกว่า 28 ล้านบาท บูรณะครั้งใหญ่ก่อนยกระดับสู่พิพิธภัณฑ์มีชีวิตแหล่งท่องเที่ยวใหม่ปราจีนบุรี
วันนี้ (23 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากแพทย์หญิงโศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ว่า โรงพยาบาลได้เปิดให้ประชาชนได้เข้าชมความงามของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมของไทยอย่างเป็นทางการ
หลังจากใช้เวลา 490 วัน นับตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.2563 ทำการบูรณะตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรครั้งใหญ่ ภายใต้งบประมาณกว่า 28 ล้านบาท หลังค้นพบความงามที่ถูกซ่อนไว้ภายในตัวอาคารซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดี ที่ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศรตั้งใจสร้างตึกดังกล่าวขึ้นเพื่อถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5
กระทั่งถูกส่งต่อมาเพื่อใช้ในการสาธารณประโยชน์ โดยตึกแห่งนี้ยังถูกขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานเมื่อปี 2532 และได้ยังรับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ในปี 2542 อีกด้วย
“การบูรณะครั้งนี้มีเป้าหมายอยู่ที่การคงไว้ซึ่งความงดงามดั้งเดิมของตึก โดยเฉพาะสีผนังและลายพิมพ์บนผนัง ซึ่งกรมศิลปากร ได้ใช้เทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์ หรือ X-ray fluorescence (XRF) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้สำหรับการศึกษาองค์ประกอบของธาตุที่อยู่ในตัวอย่าง โดยอาศัยความต่างของชั้นพลังงานแต่ละธาตุมาเปรียบเทียบอายุการใช้งานของตึกดังกล่าว”
นอกจากนั้น ยังได้ค้นพบไฮไลต์สำคัญที่การฉลุลายกุหลาบ ซึ่งใช้เทคนิคการพิมพ์ลายฉลุ (Stencil printing ) ที่ยังคงไว้ซึ่งความงดงามของสถาปัตยกรรมได้เป็นอย่างนี้
ทั้งนี้ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้เปิดให้ประชาชนได้เข้าชมความงามของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เนื่องในวันปิยมหาราช 2564 เป็นวันแรก และจะเปิดให้ชมไปจนถึงสิ้นเดือน พ.ย.นี้ จากนั้นจึงจะปิดตึกดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์เต็มรูปแบบ ที่จะเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ด้านการแพทย์แผนไทย สมุนไพรไทย และเปิดตัวร้านยาไทยโพธิ์เงิน เพื่อให้บริการสมุนไพรต่างๆ แก่ประชาชน
“ในอนาคต ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จะเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตคือมีการใช้งานจริง ซึ่งนอกจากประชาชนจะได้ชมความงามด้านสถาปัตยกรรมแล้ว ยังจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวของ จ.ปราจีนบุรี ที่ทรงคุณค่าในลักษณะ Soft power เพื่อให้สมกับที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าประเทศไทย เป็นเมืองมรดกทางวัฒนธรรม” แพทย์หญิงโศรยา กล่าว