ตราด - อดีตนายก อบต.ประณีต ยื่นหนังสือร้อง รมช.เกษตรฯ เร่งผลักดันโครงการก่อสร้างเขื่อนห้วยสะตอ แก้ปัญหาภัยแล้ง-รองรับน้ำช่วงฤดูฝน ขณะปริมาณน้ำในอ่าง 7 แห่งในพื้นที่เกินความจุแล้ว
วันนี้ (16 ต.ค.) นายสังคม นิลฉวี อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลประณีต ได้ยื่นหนังสือต่อ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะเดินทางลงพื้นที่ จ.ตราด เพื่อมอบถุงยังชีพให้ผู้ประสบอุทกภัยจากภาวะฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน จนทำให้มีผู้ได้รับความเดือดร้อนในหลายพื้นที่
โดยได้มีการเรียกร้องให้เร่งผลักดันโครงการก่อสร้างเขื่อนห้วยสะตอ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเดิม จ.ตราด ต้องขอให้มีการผันน้ำจากเขื่อนคิรีธาร จ.จันทบุรี เข้าช่วยเหลือเกษตรกร และยังเป็นการรองรับในช่วงฤดูฝนเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่
ขณะที่การเดินทางลงพื้นที่ จ.ตราด ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ในครั้งนี้ยังมี นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด พร้อมด้วย นายประกอบ เผ่าพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และนายสมบัติ ตงเต๊า รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นำผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้การต้อนรับ และร่วมมอบถุงยังชีพให้ประชาชนในเขตตัวเมืองตราด จำนวน 700 ชุด
และแจกจ่ายให้ประชาชนใน ต.ประณีต อ.เขาสมิง อีกจำนวน 160 ชุด พร้อมมอบชุดเมล็ดพันธุ์พืช ชุดชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ปุ๋ยชีวภาพแหนแดงและปุ๋ยหมักเติมอากาศ ตลอดจนหญ้าอาหารสัตว์พระราชทานให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมอีกด้วย
สำหรับการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ จ.ตราด จากอิทธิพลพายุโซนร้อน “คมปาซุ” ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายรวม 14 ตำบลใน 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองตราด บ่อไร่ และ อ.เขาสมิง ส่วนหมู่บ้านที่ได้รับความเสียหายรวม 70 หมู่บ้าน 1,283 ครัวเรือน
พื้นที่การเกษตรใน 3 อำเภอเสียหายรวม 10,285 ไร่ และคาดว่าจะเสียหายอีกกว่า 2,000 ไร่ ด้านปศุสัตว์อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย
โดยกรมชลประทานได้การดำเนินการระบายน้ำจากประตูระบายน้ำเขาสมิงลงแม่น้ำตราดจนครบทุกบาน พร้อมตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำ และยังคงติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
นอกจากนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่เสี่ยงรวม 6 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองตราด เขาสมิง แหลมงอบ คลองใหญ่ เกาะกูด และเกาะช้าง ด้วยการจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำจำนวน 12 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 2 คัน พร้อมทั้งเตรียมจุดอพยพสัตว์อีก 7 จุด และสำรองเสบียงสัตว์ (หญ้าแห้ง) รวม 10 ตัน
พร้อมประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนสถานการณ์ให้แก่เกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ด้วยการเสริมกระสอบทราย ขุดร่องระบายน้ำพร้อมกำจัดวัชพืชในทางไหลอีกด้วย
ขณะที่ข้อมูลสถานการณ์น้ำใน จ.ตราด ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่าอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 7 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำบ้านมะนาว อ่างเก็บน้ำด่านชุมพล อ่างเก็บน้ำห้วยแร้ง อ่างเก็บน้ำวังปลาหมอ อ่างเก็บน้ำเขาระกำ อ่างเก็บน้ำคลองโสน และอ่างเก็บน้ำสะพานหิน ซึ่งมีความจุอ่างรวมทั้งสิ้น 185.59 ล้าน ลบ.ม.
โดยมีปริมาตรน้ำกักเก็บรวม 201.65 ล้าน ลบ.ม. (108.65%) ส่วนปริมาตรน้ำใช้การได้มีจำนวน 192.70 ล้าน ลบ.ม. (109.09%)