อุดรธานี - พ่อเมืองอุดรมั่นใจประตูระบายน้ำสามพร้าวสภาพมั่นคงแข็งแรง พร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันตามที่อุตุฯ พยากรณ์ไว้ ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังต่ำเมืองอุดรไม่ท่วมซ้ำย่านเศรษฐกิจตัวเมืองอุดรชั้นในเหมือนปี 44 แน่นอน
วันนี้ (6 ต.ค.) นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พร้อมนายเฉลิมชัย ม่วงไหมแพร ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุดรธานี และนายธีระภัทร์ ผิวสวัสธ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุดรธานี ลงพื้นที่ตรวจสอบประตูระบายน้ำสามพร้าว บ.สามพร้าว ต.สามพร้าว อ.เมือง เพื่อตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของประตูระบายน้ำ ประสิทธิภาพการระบายน้ำเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เนื่องจากพื้นที่จังหวัดอุดรธานีเป็นพื้นที่เฝ้าระวังในห้วงวันที่ 11-12 ต.ค. 64
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า จากการประเมินสถานการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาทราบว่า จ.อุดรธานีจะได้รับผลกระทบน้อยมาก แต่ทางจังหวัดก็ไม่ได้วางใจ โดยวานนี้เมื่อรู้ว่าในพื้นที่อาจมีฝนตกลงมาในวันที่ 11-12 ตุลาคมนี้ ในวันนี้เราจึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมประตูระบายน้ำสามพร้าว ซึ่งเป็นจุดระบายน้ำหลักที่จะระบายน้ำออกจากเขตชั้นในของเมืองและโดยรอบ
จากรายงานของชลประทานจังหวัดทราบว่าประตูระบายน้ำยังอยู่ในสภาพที่แข็งแรง ส่วนระดับน้ำหน้าประตูและหลังประตูมีระดับน้ำที่ห่างกันราว 50 เซนติเมตร เพียงพอที่จะรับน้ำฝนที่คาดว่าจะตกลงมาอีก
“ขอย้ำว่าประตูระบายน้ำสามพร้าวอยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรง ส่วนต้นน้ำที่อ่างเก็บน้ำบ้านจั่นมีการพร่องน้ำไว้เพื่อรองรับเหตุฝนตกหนักฉับพลันราว 2 แสนคิวต่อวัน ทั้งนี้ ปภ.เขต 14 และ ปภ.จังหวัด ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองก็ได้เตรียมเครื่องจักรเพื่อรับสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันไว้แล้ว ขอให้ชาวอุดรมั่นใจได้” นายสยามกล่าว
ด้านนายเฉลิมชัย ม่วงไหมแพร ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุดรธานี กล่าวเสริมอีกว่า ตอนนี้ได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 10 เครื่องไว้รอแล้ว หากเกิดกรณีน้ำจากแม่น้ำโขงหนุนอย่างที่เคยเกิดขึ้นจนทำให้น้ำท่วมเมืองอุดรธานีมาแล้วเมื่อปี 2544 อย่างไรก็ตาม เมื่อดูแนวโน้มสถานการณ์ของแม่น้ำโขงแล้วมีแนวโน้มที่จะลดลง
อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ปริมาณน้ำของอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงอยู่ระดับที่ 50 เปอร์เซ็นต์ของความจุ อ่างบ้านจั่น 80 เปอร์เซ็นต์ และอ่างกุดลิงง้อ 30 เปอร์เซ็นต์ หากฝนตกลงมาจริงจะเป็นผลดีมากกว่าเพราะเป็นการเติมน้ำในแหล่งกักเก็บน้ำในจังหวัดอุดรธานี