xs
xsm
sm
md
lg

ชป.อุบลฯ ตั้งรับน้ำเหนือ เร่งผันน้ำไหลลงแม่น้ำโขงก่อนมวลน้ำก้อนใหม่มาถึง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุบลราชธานี - ชลประทานอุบลราชธานีตั้งรับมวลน้ำจากลำเชียงไกร จ.นครราชสีมา มาตามแม่น้ำมูล และน้ำแม่น้ำชีจาก จ.ชัยภูมิ ที่จะไหลมาบรรจบกันที่จังหวัด จะมีน้ำเข้ามาเติมอีกราว 10 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำที่มีอยู่แล้ว จึงจัดการจราจรน้ำใช้เครื่องผลักดันน้ำมูลลงโขงให้เร็วก่อนมวลน้ำใหม่มาถึง


สถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นแหล่งรองรับน้ำจากจังหวัดด้านเหนือในภาคอีสาน ทั้งจากแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ณ วันนี้ (6 ต.ค.) แม่น้ำมูลที่สถานีวัดน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมือง มีระดับน้ำสูง 7.49 เมตร ทำให้มีน้ำล้นตลิ่ง 49 เซนติเมตร ไหลท่วมชุมชนลุ่มต่ำใน 3 เขตเทศบาล คือ เทศบาลนครอุบลราชธานี เทศบาลเมืองแจระแม และเทศบาลเมืองวารินชำราบ รวม 21 ชุมชน และต้องอพยพไปอยู่ตามศูนย์พักพิง 236 ครัวเรือน จำนวน 915 คน โดยวันนี้แม่น้ำมูลเริ่มทรงตัว ก่อนจะปรับตัวลดลง

ด้านการรองรับน้ำจากจังหวัดด้านเหนือจากแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีที่จะมารวมกันที่จังหวัด นายสัมพันธ์ เดือนศิริรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดอุบลราชธานี คาดว่ามวลน้ำจากแม่น้ำชีจะไหลมาถึงจังหวัดอุบลราชธานีก่อนอีกราว 2 สัปดาห์ข้างหน้า จากนั้นอีก 1 สัปดาห์ต่อมาแม่น้ำมูลจึงไหลตามเข้ามา

ทำให้มีเวลาในการเร่งระบายน้ำออกจากลำน้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขง เตรียมรองรับน้ำเหนือที่จะไหลมาสมทบ โดยเมื่อมวลน้ำทั้ง 2 สายมาถึงจะทำให้ระดับน้ำของแม่น้ำมูลเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 10 เซนติเมตร หรือมีน้ำล้นตลิ่งไม่เกิน 60 เซนติเมตรของระดับน้ำปัจจุบัน


จึงได้นำเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 100 เครื่อง ซึ่งมีกำลังผลักดันน้ำวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ติดตั้งใช้ผลักดันน้ำบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำมูล อ.พิบูลมังสาหาร เพื่อดันน้ำให้ไหลผ่านแก่งสะพือไปลงแม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม เพิ่มจากวันละ 270 ล้านลูกบาศก์เมตรเป็นวันละ 280 ล้านลูกบาศก์เมตร


นอกจากนี้ ยังติดตั้งเครื่องสูบน้ำของสำนักงานชลประทาน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจำนวน 3 เครื่อง เรือดันน้ำอีก 1 ลำที่บริเวณท้ายแก่งสะพือ ช่วยเพิ่มการระบายน้ำให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่มีระดับน้ำต่ำกว่าแม่น้ำมูลกว่า 10 เมตร โดยมีอัตราน้ำไหลออกกว่า 240 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน


กำลังโหลดความคิดเห็น