อุบลราชธานี - “บิ๊กป้อม” สั่ง ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รุดดูสถานการณ์น้ำภาคอีสาน พร้อมสั่งวางแผนรับมือพายุลูกใหม่ที่อาจเข้าสู่ไทยปลายเดือน ก.ย.นี้
ที่สถานีวัดน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รับคำสั่งจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ติดตามสถานการณ์น้ำของลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล แล้วบริหารจัดการลุ่มน้ำเพื่อวางแผนป้องกันน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี ไม่ให้เกิดเหมือนครั้งพายุโพดุลและพายุคาจิกิทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2562
เนื่องจากจังหวัดอุบลราชธานีเป็นจุดรวมน้ำของลำน้ำต่างๆ ในภาคอีสานทั้งหมด แม้พายุโกนเซินจะสลายตัวไปแล้ว แต่ด้วยความห่วงใยของ พล.อ.ประวิตร จึงให้มาเตรียมป้องกัน โดยกรมชลประทานจะกระจายเครื่องสูบน้ำเข้าไปยังพื้นที่เสี่ยงตามลุ่มน้ำทั้ง 17 จุดของจังหวัด หากเกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้น ก็ให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นผู้บริหารเหตุการณ์ โดยมีกรมชลประทานเป็นผู้สนับสนุนการปฏิบัติงานเพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัยในปี 2564 นี้
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงการเตรียมบริหารจัดการจราจรในลุ่มน้ำชีและมูลในฤดูฝนนี้ไว้ 2 กรณี คือ กรณีเกิดน้ำหลากในลุ่มน้ำยังตอนล่าง เขื่อนยโสธร จะเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนเพิ่มจากปกติ 1-2 เท่าของปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำแม่น้ำชีที่ อ.ทุ่งเขาหลวง กับสถานีวัดน้ำแม่น้ำยัง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด โดยจะไม่ให้มีผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนยโสธร เขื่อนธาตุน้อย และลำน้ำมูล
แต่หากเกิดกับแม่น้ำชีตอนล่าง และแม่น้ำมูลมีปริมาณน้ำมาก เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว และเขื่อนของแม่น้ำชีทั้ง 4 เขื่อนจะลดการระบายเพื่อหน่วงชะลอน้ำ ช่วยแม่น้ำชีตอนล่างและแม่น้ำมูลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าลดลง
ซึ่งขณะนี้แม่น้ำมูลที่สถานีวัดน้ำ M7 ยังถือว่ายังปกติมีน้ำครึ่งหนึ่งของลำน้ำ (ต่ำกว่าตลิ่ง 3 เมตรเศษ) ที่รองรับได้ แต่ก็ต้องเฝ้าระวัง เพราะมีสัญญาณช่วงปลายเดือนกันยายนจะมีพายุเข้ามาอีกครั้ง แม้ในช่วง 10 วันนี้ฝนได้เริ่มเบาลงแล้ว แต่การประเมินของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าปลายเดือนกันยายนต่อเนื่องถึงกลางตุลาคมจะมีพายุเข้ามาอีก แต่ก็สามารถปรับแผนรองรับได้ แม้ขณะนี้แม่น้ำทุกสายมีอัตราการขึ้นค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะแม่น้ำโขงขึ้นเร็ว 1-2 เมตร
ส่วนท้ายเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยามีการระบายน้ำเพิ่มขึ้นจากฝนที่ตกท้ายเขื่อนสูงถึง 2 เมตร แต่เป็นการขึ้นชั่วคราว เมื่อปริมาณฝนเบาลงจะทำให้แม่น้ำทั้งหมดทรงตัว เพราะฝนที่ตกขณะนี้เป็นฝนจากร่องความกดอากาศต่ำไม่ได้เกิดจากอิทธิพลของพายุโดยตรง