xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ “หมอเกรียงศักดิ์” งง! ถูกเด้งพ้น “ผอ.รพ.มหาราชโคราช” ไป “รพ.ขอนแก่น” เชื่อปมพิษ ATK ฉาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - เปิดใจ! “หมอเกรียงศักดิ์” ผอ.รพ.มหาราชนครราชสีมา งงถูกคำสั่งย้ายกลับไปเป็น ผอ.รพ.ขอนแก่นทั้งที่เพิ่งมานั่งเก้าอี้ได้แค่ 1 ปี เผยเชื่อปมเหตุมีเรื่องเดียวขัดแย้งจัดหาชุดตรวจโควิด ATK 8.5 ล้านชุดพ่นพิษ ยอมรับเป็น ขรก.ไม่ยึดติดตำแหน่งและไม่อุทธรณ์คำสั่งถือว่าได้กลับบ้าน ชี้ อภ.ร้อง ป.ป.ช.เอาผิดแค่หวัง “ปิดปาก” ไม่หวั่นเดินหน้าเกาะติด ATK ต่อเนื่อง

วันนี้ (25 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีกระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามคำสั่ง ที่ 1028/2564 วันที่ 22 ก.ย. 64 เรื่อง แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (ผอ.รพศ./รพท.) 24 ราย ล่าสุด โดย 1 ใน 24 รายนั้นให้ย้าย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ทั้งที่เพิ่งย้ายจาก ผอ.รพ.ขอนแก่นมาดำรงตำแหน่ง ผอ.รพ.มหาราชนครราชสีมาได้เพียง 1 ปี และเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่กว่า ซึ่งสร้างความกังขาให้แก่หลายฝ่ายรวมทั้งเจ้าตัวนั้น

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.รพ.มหาราชนครราชสีมา
ล่าสุด นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เปิดเผยว่า การโยกย้ายครั้งนี้เป็นการโยกย้ายประจำปี แต่ตนดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้เพียง 1 ปี ซึ่งมีวาระอยู่ได้ถึง 4 ปี และตอนนี้ก็ยังไม่ถึง ซึ่งหากจะโยกย้ายก็คือต้องบันทึกขอย้าย แต่กรณีนี้ตนไม่ได้ทำบันทึกขอย้ายแต่อย่างใด แต่ก็ไม่เป็นไร เราอย่ายึดติด แม้ว่ามีหลายเรื่องหลายโครงการที่อยากจะทำให้โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ถ้าไม่รวมกรุงเทพฯ ทั้งเรื่องการจะทำให้โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาเป็นสถาบันผลิตบุคลากรทางการแพทย์ หรือวิทยาลัยแพทยศาสตร์แห่งชาติ รวมไปถึงการยกระดับการให้บริการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและได้รับบริการที่ดี ซึ่งทุกอย่างต้องใช้เวลาในการดำเนินการ แต่เราเป็นข้าราชการ ให้ไปที่ไหนเราก็ไปได้ และคงไม่อุทธรณ์คำสั่งครั้งนี้แต่อย่างใด ถือว่าเราก็กลับไปบ้านเราที่ จ.ขอนแก่น และไม่ได้หนักใจแต่อย่างใด

การโยกย้ายครั้งนี้เป็นการโยกย้ายในตำแหน่งที่อยู่ระนาบเดียวกันหรือไม่ นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า ก็ระนาบเดียวกัน คือเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาจะมีขนาดที่ใหญ่กว่า บุคลากรมากกว่า ไม่มีอะไร เราก็พร้อมที่จะย้ายตามคำสั่ง โดยจะเดินทางไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่นวันที่ 4 ตุลาคมนี้

กลุ่มชาวโคราชพากันมามอบดอกไม้ให้กำลังใจ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.รพ.มหาราชนครราชสีมา หลังทราบข่าวถูกย้ายไปดำรงตำแหน่ง ผอ.รพ.ขอนแก่น ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 รพ.มหาราชฯ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา
ต่อข้อถามที่ว่าการโยกย้ายครั้งนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองหรือไม่ โดยเฉพาะ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.รพ.มหาราชนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะทํางานกําหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีปัญหาขัดแย้งกับการจัดซื้อชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด ภายใต้วงเงิน 1,014 ล้านบาท ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยถูกผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมร้องสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ให้สอบพฤติกรรมกล่าวหามีการล็อกสเปก ส่อทุจริต กระทําผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 กรณีการจัดหาชุดตรวจสําหรับ COVID-19 ประเภท Antigen Test Kits จํานวน 8,500,000 ชุด

นพ.เกรียงศักดิ์ตอบว่า การร้อง ป.ป.ช.มันเป็นกระบวนการที่ทางกฎหมายเขาเรียกว่า “ร้องปิดปาก” แต่เราไม่กลัว เพราะเรามีข้อมูลจริงทุกอย่าง และสิ่งที่เราทำไปนั้นก็ทำภายใต้อำนาจหน้าที่ เพราะเราเป็นคณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งตามกฎหมาย และมีมติของคณะกรรมการออกมาตั้งแต่เดือน มิ.ย.ในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างจะต้องปรึกษากับทางนี้ก่อน ยืนยันว่าเราบริสุทธิ์ เราเป็นคนออกมาบอกด้วยซ้ำ และไม่หวั่นไหวต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการโยกย้ายครั้งนี้หรือไม่ ตนไม่ทราบจริงๆ และการโยกย้ายครั้งนี้ก็เป็นช่วงการโยกย้ายตามฤดูกาลหรือวาระการโยกย้ายประจำปี แต่ก็ไม่มีปัจจัยอื่นที่จะมาให้คิดในตอนนี้เพราะมีเรื่องนี้เรื่องเดียว


นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวอีกว่า ในการจัดซื้อ ATK ขององค์การเภสัชกรรมเราก็จะจับตามองต่อไป แต่โดยหลักการแล้วไม่ใช่สเปกที่เราเคยให้ไว้ เพราะตอนนั้นเราเสนอของบประมาณไป โดยมีเป้ามายว่าเราจะเอา ATK ครั้งนี้มาใช้ในพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น พื้นที่ กทม. และปริมณฑล ซึ่งการบริการทางการแพทย์ไม่สามารถเข้าไปถึงได้ และเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์นำมาใช้ในการกลั่นกรองผู้ป่วยโควิด-19 ก่อนที่จะไปถึงโรงพยาบาล คือเป็น ATK แบบ Professional Use คือดีที่สุด แม่นยำที่สุด ไม่ใช่ ATK แบบ Home Use












กำลังโหลดความคิดเห็น