เชียงราย - บริษัทเอกชนหลายรายรุมปักหมุดปลูก “กัญชงเชียงราย” ตั้งเป้า 1 แสนไร่ใน 5 ปี การันตีขายได้ไร่ละแสน ดีกว่าข้าวโพดเป็นร้อยเท่า
นายวีรชาติ เขื่อนรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการปลูกกัญชงต้นแรกในเชียงราย โดยมี นายแพทย์ เกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา ประธานบริษัทไทยเฮมพ์ เวลเนส จำกัด พล.อ.สุทัศน์ จารุมณี และ ดร.เพิ่มศักดิ์ สุภาพรเหมินทร์ กรรมการมูลนิธิวนเกษตรอินทรีย์ นายยืนยง โอภากุล หรือ “แอ๊ด คาราบาว” ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตและศิลปินแห่งชาติ และผู้บริหารในเครือคาราบาวกรุ๊ป รวมทั้งเอกชนที่เกี่ยวข้องและเกษตรกร เข้าร่วมบนที่ดินติดถนนหมายเลข 118 สายเชียงราย-เชียงใหม่ หมู่ 3 ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย
ตัวแทนบริษัทไทยเฮมพ์ เวลเนส จำกัด แถลงว่า เกษตรกรในเชียงรายได้รับใบอนุญาตปลูกกัญชงแล้ว รายแรกเป็นแปลงของ นายศิริชัย ใจแปง ตามใบอนุญาตที่ ชร 171/2562 (ป) พื้นที่หมู่ 3 ต.ดงมะดะ และจะมีการขยายการปลูกทุกปี โดยมีเป้าหมายเริ่มเก็บผลผลิตแปลงแรกในเดือนพฤศจิกายน 64 นี้เพื่อนำไปสกัดที่โรงสกัดพื้นที่ ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย และในปี 2565 จะได้ผลผลิตชุดแรก 4,500 กิโลกรัม หรือ 4.5 ตัน ขายให้เอกชนนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ตันละประมาณ 100,000-150,000 บาท
นายแพทย์ เกรียงศักดิ์กล่าวว่า พื้นที่เชียงรายถือเป็นแห่งแรกที่มีการปักหมุดปลูกต้นกัญชงในเชิงพาณิชย์ โดยบริษัทมีแผนจะส่งเสริมการปลูกในช่วงแรก 1,600 ไร่ก่อน จากนั้นจะเพิ่มให้เป็นประมาณ 100,000 ไร่ภายใน 5 ปี โดยปีที่ 2 จะเพิ่มการปลูกเป็น 30,000 ไร่ ปีที่ 3 เพิ่มเป็น 40,000 ไร่ ปีที่ 4 เพิ่มเป็น 60,000 ไร่ และปีที่ 5 เพิ่มเป็น 100,000 ไร่ ลักษณะเป็นการร่วมกับเกษตรกรแต่ละราย รายละประมาณ 5 ไร่ ซึ่งเกษตรกรสามารถปลูกได้ปีละ 2 ครั้ง เก็บผลผลิตขายได้ไร่ละ 100,000 บาทต่อปี จึงนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ดี
“เทียบมูลค่าผลผลิตกัญชง 1 ไร่ เท่ากับข้าวโพดถึง 100 ไร่ และการปลูกข้าวโพดยังต้องเผาหลังเก็บผลผลิตจนทำให้มีปัญหามลภาวะหมอกควันเป็นประจำทุกปีอีกด้วย การปลูกกัญชงยังทำได้อย่างยั่งยืนเพราะเกษตรกรจะผลิตเพื่อส่งให้บริษัทที่เป็นผู้สกัดสาร CBD และบริษัทก็ส่งต่อให้กับเอกชนที่นำไปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต่อไปอย่างต่อเนื่อง”
และเมื่อยังไม่มีการอนุญาตให้นำเข้าสารสกัด CBD ทำให้ยังมีโอกาสขยายการปลูกออกไปได้อีกมาก โดยเกษตรกรจะมีรายได้อย่างต่อเนื่องด้วย กรณีมีราคารับซื้อที่กิโลกรัมละประมาณ 40 บาท ก็จะมีรายได้ต่อไร่ 50,000 บาทต่อฤดูกาลเพาะปลูกอย่างแน่นอน ซึ่งจากการศึกษาพบว่าพื้นที่ทั่วประเทศไทยสามารถปลูกกัญชงได้ดีโดยเฉพาะภาคเหนือที่มีคุณภาพดินดีทั้งเชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน ฯลฯ ดังกล่าว
ด้านนายวีรชาติกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าภาคเอกชนมีการขับเคลื่อนเชิงรุกที่รวดเร็วและเชื่อว่ามาถูกทางแล้ว ในนามหน่วยงานภาครัฐก็จะช่วยส่งเสริมให้ได้รับการอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะกรณีนี้เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจน ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อตั้งมาร่วม 125 ปี แต่เกษตรกรไทยก็ยังไม่มีรายได้แบบก้าวกระโดด ดังนั้นโครงการนี้จึงถือเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และเป็นต้นแบบเพื่อนำร่องไปสู่เกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ต่อไป