xs
xsm
sm
md
lg

ครอบครัวจัดรดน้ำศพ “ทมยันตี” เป็นส่วนตัวในที่พำนัก-บรรจุร่างใส่โลงตั้งสวดที่วัด 2 คืนก่อนนำเข้ากรุงเทพฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - ปิดตำนาน “คู่กรรม”! สิ้นแล้ว “ทมยันตี” บรมครูนักเขียนศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี 2555 ระหว่างนั่งสมาธิภายใน “ล้านนาเทวาลัย” ที่เชียงใหม่ ครอบครัวและญาติจัดรดน้ำศพเป็นการส่วนตัวภายในที่พำนัก โดยนิมนต์พระสงฆ์มาประกอบพิธี ก่อนบรรจุร่างในโลงศพเคลื่อนย้ายไปตั้งสวดบำเพ็ญกุศลอย่างเรียบง่ายที่วัดใกล้บ้าน


รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (13 ก.ย. 64) “ทมยันตี” หรือ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ นักเขียนชื่อดัง และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ได้ถึงแก่กรรมลงอย่างสงบด้วยอายุ 85 ปี ภายใน “ล้านนาเทวาลัย” ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่พำนักส่วนตัว โดยตามรายงานข่าวระบุว่า “ทมยันตี” ถึงแก่กรรมด้วยท่านั่งสมาธิระหว่างกำลังทำสมาธิ ทั้งนี้ช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ได้มีการจัดพิธีรดน้ำศพเป็นการส่วนตัวเฉพาะคนใกล้ชิดสนิทสนมภายในที่พำนัก โดยนิมนต์พระสงฆ์ประกอบพิธี จากนั้นจึงได้มีการนำร่างบรรจุโลงแล้วทำการเคลื่อนย้ายมาตั้งที่ศาลาวัดบวกครกใต้เพื่อสวดบำเพ็ญกุศลเป็นเวลา 2 วัน เมื่อเสร็จแล้วจะนำร่างไปประกอบพิธีที่กรุงเทพฯ ต่อไป ซึ่งรายละเอียดต่างๆ นั้นทางครอบครัวและญาตจะมีการแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

สำหรับประวัติของ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี 2555 เกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นบุตรสาวคนโตของนายทองคำ และไข่มุก ศิริไพบูลย์ มีพี่ชายหนึ่งคน และมีน้องสาวหนึ่งคน คุณหญิงวิมลศึกษาชั้นประถมปีที่ 1 ถึงมัธยมปีที่ 8 ที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ จากนั้นเข้าศึกษาต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ภายหลังเปลี่ยนมาเรียนคณะพณิชยศาสตร์และการบัญชี และเป็นนักโต้วาทีของมหาวิทยาลัย ร่วมทีมกับสมัคร สุนทรเวช และชวน หลีกภัย จนจบอนุปริญญา


ขณะเรียนในชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อนของเธอชวนไปสมัครเป็นครูสอนวิชาภาษาไทย โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ เมื่อโรงเรียนรับสมัครเข้าเป็นอาจารย์ จึงลาออกจากธรรมศาสตร์ โดยระหว่างสอนหนังสือก็ได้เขียนหนังสือไปพร้อมกันด้วย โดยผลงานชิ้นแรกที่ วิมล เริ่มเขียนเรื่องสั้นเมื่ออายุ 14 ปี ขณะเรียนอยู่ชั้น ม.4 ได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสารศรีสัปดาห์ และได้เขียนเรื่องสั้นต่อเนื่องอยู่ถึง 11 ปี ขณะที่เริ่มเขียนเรื่องยาวเรื่องแรกคือเรื่อง ในฝัน เมื่ออายุ 19 ปี ใช้นามปากกา โรสลาเรน ตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์ วิมลเขียนเรื่องสั้นและนวนิยายจนอายุ 70 ปีจึงเลิกเขียน

โดยคุณหญิงวิมล หรือทมยันตี นิยมการใช้สำนวนภาษาตามแบบหลวงวิจิตรวาทการ และนักเขียนสตรีรุ่นเก่า คือ ร.จันทพิมพะ และนวนิยายหลายเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ เช่น คู่กรรม ทั้งสองภาค ดั่งดวงหฤทัย ทวิภพ คำมั่นสัญญา ดาวเรือง รอยอินทร์ ร่มฉัตร เลือดขัตติยา ในฝัน เป็นต้น นวนิยายที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ คู่กรรม ทั้งนี้ คุณหญิงวิมลมีนามปากกาที่โดดเด่น คือ ทมยันตี ที่สร้างนวนิยาย มีแนวเรื่องหลากหลาย คือ นวนิยายรัก นวนิยายสะท้อนสังคม นวนิยายอิงการเมือง นวนิยายแฟนตาซีหรือจินตนิมิต นวนิยายเหนือจริงแนวข้ามชาติข้ามภพ นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ นวนิยายตลก นวนิยายแนวศาสนาและจิตวิญญาณ

สำหรับนวนิยายเรื่องเด่นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี เช่น คู่กรรม ทวิภพ ค่าของคน ในฝัน เลือดขัตติยา ดั่งดวงหฤทัย มงกุฎที่ไร้บัลลังก์ โซ่สังคม ล่า รอยมลทิน เมียน้อย ใบไม้ที่ปลิดปลิว นายกหญิง สตรีหมายเลข 1 พ่อปลาไหล ร่มฉัตร อตีตา สุริยวรมัน กษัตริยา แก้วกัลยา อธิราชา ฌาน จิตา มายา ฯลฯ ซึ่งนวนิยายหลายเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ละครเวที และภาพยนตร์ ซ้ำหลายครั้งหลายหน อันทำให้เป็นนวนิยายอมตะในวงวรรณกรรมไทย เช่น คู่กรรม ทวิภพ










กำลังโหลดความคิดเห็น