xs
xsm
sm
md
lg

เปิดประวัติ “ทมยันตี” หรือ “คุณหญิงวิมล” นักเขียนชั้นครู หลังจากไปอย่างสงบในวัย 85 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดประวัติคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ เป็นนักประพันธ์นวนิยายชาวไทย นามปากกาที่เป็นที่รู้จัก คือ ทมยันตี, ลักษณวดี, กนกเรขา, โรสลาเรน, มายาวดี เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2555 เจ้าของผลงานชื่อดังเป็นที่รู้จักอย่าง “คู่กรรม” หลังจากไปอย่างสงบในวัย 85 ปี

จากข่าวช็อกใจแฟนๆ ของ “ทมยันตี” หรือ “คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์” ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี 2555 เจ้าของบทประพันธ์ชื่อดังจำนวนมาก เช่น คู่กรรม, ทวิภพ, ค่าของคน, อุบัติเหตุ, ดาวเรือง, ล่า, เวียงกุมกาม, นากพัทธ์, พิษสวาท, ดั่งดวงหฤทัย, คำมั่นสัญญา, พี่เลี้ยง, เลือดขัตติยา ที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์ในหลายยุคหลายสมัย เบื้องต้นครอบครัวแจ้งว่าทมยันตีนอนหลับไปเฉยๆ ขณะที่หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้โพสต์แสดงความเสียใจต่อการจากไป

สำหรับประวัติของ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี 2555 เกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นบุตรสาวคนโตของนายทองคำ และไข่มุก ศิริไพบูลย์ มีพี่ชายหนึ่งคน และมีน้องสาวหนึ่งคน คุณหญิงวิมลศึกษาชั้นประถมปีที่ 1 ถึงมัธยมปีที่ 8 ที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ จากนั้นเข้าศึกษาต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ภายหลังเปลี่ยนมาเรียนคณะพณิชยศาสตร์และการบัญชี และเป็นนักโต้วาทีของมหาวิทยาลัย ร่วมทีมกับสมัคร สุนทรเวช และชวน หลีกภัย จนจบอนุปริญญา
ขณะเรียนในชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อนของเธอชวนไปสมัครเป็นครูสอนวิชาภาษาไทย โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ เมื่อโรงเรียนรับสมัครเข้าเป็นอาจารย์ จึงลาออกจากธรรมศาสตร์ โดยระหว่างสอนหนังสือก็ได้เขียนหนังสือไปพร้อมกันด้วย

โดยผลงานชิ้นแรกที่ วิมล เริ่มเขียนเรื่องสั้นเมื่ออายุ 14 ปี ขณะเรียนอยู่ชั้น ม.4 ได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร ศรีสัปดาห์ และได้เขียนเรื่องสั้นต่อเนื่องอยู่ถึง 11 ปี ขณะที่เริ่มเขียนเรื่องยาวเรื่องแรกคือเรื่อง ในฝัน เมื่ออายุ 19 ปี ใช้นามปากกา โรสลาเรน ตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์ วิมลเขียนเรื่องสั้นและนวนิยายจนอายุ 70 ปีจึงเลิกเขียน

หลังจากเป็นแกนนำสำคัญของชมรมแม่บ้านโจมตีขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 วิมลได้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และต่อมาในปี พ.ศ. 2520 ได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, ปี พ.ศ. 2522 เป็นสมาชิกวุฒิสภา และปี พ.ศ. 2527 ได้เป็นผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
วิมล หรือ ทมยันตี นิยมการใช้สำนวนภาษาตามแบบหลวงวิจิตรวาทการ และนักเขียนสตรีรุ่นเก่า คือ ร. จันทพิมพะ และนวนิยายหลายเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ เช่น คู่กรรม ทั้งสองภาค ดั่งดวงหฤทัย ทวิภพ คำมั่นสัญญา ดาวเรือง รอยอินทร์ ร่มฉัตร เลือดขัตติยา ในฝัน เป็นต้น นวนิยายที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ คู่กรรม

ทั้งนี้ คุณหญิงวิมลมีนามปากกาที่โดดเด่น คือ ทมยันตี ที่สร้างนวนิยาย มีแนวเรื่องหลากหลายคือ นวนิยายรัก นวนิยายสะท้อนสังคม นวนิยายอิงการเมือง นวนิยายแฟนตาซีหรือจินตนิมิต นวนิยายเหนือจริงแนวข้ามชาติข้ามภพ นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ นวนิยายตลก นวนิยายแนวศาสนาและจิตวิญญาณ

นวนิยายเรื่องเด่นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี เช่น คู่กรรม ทวิภพ ค่าของคน ในฝัน เลือดขัตติยา ดั่งดวงหฤทัย มงกุฎที่ไร้บัลลังก์ โซ่สังคม ล่า รอยมลทิน เมียน้อย ใบไม้ที่ปลิดปลิว นายกหญิง สตรีหมายเลข 1 พ่อปลาไหล ร่มฉัตร อตีตา สุริยวรมัน กษัตริยา แก้วกัลยา อธิราชา ฌาน จิตา มายา ฯลฯ

นวนิยายหลายเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ละครเวที และภาพยนตร์ ซ้ำหลายครั้งหลายหน อันทำให้เป็นนวนิยายอมตะในวงวรรณกรรมไทย เช่น คู่กรรม ทวิภพ

นอกจากนี้ ยังมีนามปากกาที่ใช้อยู่ถึง 4 ชื่อ คือ 1. โรสลาเรน เป็นนามปากกาแรก เทียบคำในภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “กุหลาบราชินี” ใช้เขียนเรื่องรักพาฝันหรือจินตนิยาย วิมลกล่าวว่านามปากกานี้นำมาจากชื่อนางเอกซึ่งเป็นนักร้องโอเปราในเรื่องสั้นของหลวงวิจิตรวาทการ

2. ลักษณวดี ใช้สำหรับเขียนนวนิยายรัก ส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาของเหล่าเจ้าหญิงเจ้าชาย คำว่า “ลักษณวดี” มีความหมายว่า “นางผู้มีลักษณะดี, นางผู้งามเลิศ” วิมลนำชื่อ “ลักษณวดี” ซึ่งเป็นนางในวรรณคดีและเป็นมเหสีของพระลอดิลกราชจากวรรณคดีเรื่อง “ลิลิตพระลอ”

3. กนกเรขา ใช้สำหรับแต่งเรื่องตลกเบาสมอง คำว่า “กนกเรขา” แปลว่า “อักษรอันวิจิตร” วิมลนำชื่อ “กนกเรขา” ซึ่งเป็นนางในวรรณคดีเรื่อง “กนกนคร” ของ น.ม.ส. มาใช้เป็นนามปากกา

4. มายาวดี ใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์แห่งเทวะ หรือเรื่องเล่าจากตำนาน ความเชื่อต่างๆ และในปัจจุบันยังใช้นามปากกานี้เขียนคอลัมน์ “สนธยากาล” ลงในนิตยสารขวัญเรือน
กำลังโหลดความคิดเห็น