เชียงใหม่ - ผู้ประกอบการที่พักรายย่อยเชียงใหม่เผยโควิด-19 พ่นพิษหนักทำตลอด 2 ปีรายได้เป็นศูนย์จนต้องแห่ปักป้ายขายทั่วเมือง อย่างไรก็ตามไม่เห็นด้วยเร่งรีบเปิดรับนักท่องเที่ยวเริ่ม 1 ต.ค. 64 ตามโครงการ “ชาร์มมิ่ง เชียงใหม่” หวั่นคุมไม่ได้ทำแพร่เชื้อหนักเสียหายยิ่งกว่าเดิม ชี้ตัวอย่างภูเก็ตฉีดวัคซีนแล้ว 70% ยังเอาไม่อยู่
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดต่อเนื่องมาประมาณ 2 ปีแล้ว ทำให้บรรยากาศท่องเที่ยวที่เคยคึกคักเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวเงียบหายไปในชั่วพริบตาและความเงียบเหงาของตัวเมืองเชียงใหม่ที่กลายเป็นภาพที่ชาชินไปแล้ว พร้อมกับป้ายขายหรือเซ้งกิจการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่พบเห็นได้ทั่วไป
นายวีรวิทย์ แสงจักร ประธานกลุ่มล่ามช้าง และผู้ประกอบการเกสต์เฮาส์ที่พักย่านชุมชนล่ามช้าง ในตัวเมืองเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ประกอบการที่พักเนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบมากเพราะเงินทุนหมุนเวียนน้อย และไม่สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ จากทางภาครัฐได้เลย เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่มีการกำหนดรายละเอียดมากมาย รวมทั้งการระบุว่าต้องเป็นผู้ประกอบการที่พักที่มีใบอนุญาต ซึ่งในความเป็นจริงนั้นผู้ประกอบการที่พักในเชียงใหม่ที่มีกว่า 6,300 ราย มีเพียงประมาณ 640 ราย หรือประมาณ10% เท่านั้นที่มีใบอนุญาต
จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จำเป็นต้องปิดตัวลง ซึ่งแม้ว่าจะปิดตัวลงและไม่มีรายรับเข้ามา แต่ผู้ประกอบการแต่ละรายยังคงมีภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ อยู่เหมือนเดิมในการประคับประคองตัวเพื่อรอคอยความหวังว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ทั้งค่าน้ำค่าไฟ รวมทั้งภาษีต่างๆ ด้วย เช่น ภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง หรือภาษีป้าย เป็นต้น ทั้งที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เลย ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการที่พักรายย่อยจำนวนมาก โดยเฉพาะรายที่ประกอบการในลักษณะของการเช่ากิจการต้องประกาศเซ้งหรือขายกิจการ ซึ่งพบเห็นการติดป้ายได้ทั่วเมืองเชียงใหม่
อย่างไรก็ตาม การประกาศเซ้งหรือขายกิจการที่พักที่พบเห็นมากมายทั่วไปนั้นต้องยอมรับความจริงว่าแทบจะไม่ได้มีการซื้อขายเกิดขึ้นเลย เพราะในสถานการณ์เช่นนี้นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ให้ความสนใจที่จะลงทุนอย่างแน่นอน โดยอาจจะมีบางรายที่สามารถตกลงซื้อขายกันได้ แต่ผู้ขายถูกกดราคาลงอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการรายหนึ่งตั้งราคาขาย 20 ล้านบาท แต่ผู้ซื้อเสนอราคาให้เพียง 9 ล้านบาทเท่านั้น สุดท้ายจำเป็นต้องยอมตัดใจขายเพราะไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ต่อไปได้อีกแล้ว เนื่องจากไม่มีผู้ใดบอกได้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะสิ้นสุดลงและฟื้นตัวเมื่อใด เพราะวัคซีนที่มีอยู่ในเวลานี้ยังเป็นเพียงเพื่อป้องกันอาการรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตเท่านั้น ไม่ใช่ป้องกันการติดเชื้อ 100%
สำหรับการที่จังหวัดเชียงใหม่เร่งผลักดันการเปิดรับนักท่องเที่ยวภายใต้โครงการ “ชาร์มมิ่ง เชียงใหม่” (Charming Chiang Mai) โดยกำหนดจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 64 นั้น ประธานกลุ่มล่ามช้าง และผู้ประกอบการเกสต์เฮาส์ที่พักย่านชุมชนล่ามช้างแสดงความเห็นว่า การที่ทางจังหวัดเชียงใหม่ดำเนินโครงการนี้ในลักษณะเดียวกับ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ต้องยอมรับว่าเวลานี้ยังมองไม่เห็นการตกผลึกที่ชัดเจนและเชียงใหม่มีเงื่อนไขแตกต่างจากจังหวัดภูเก็ตที่เป็นเกาะ เพราะจังหวัดเชียงใหม่มีทางเข้าออกเยอะแยะมากมาย ทำให้น่าเป็นห่วงว่าจะทำการควบคุมดูแลได้ยากกว่า
นายวีรวิทย์ระบุว่า โดยส่วนตัวเห็นว่าโครงการนี้ของจังหวัดเชียงใหม่ควรจะชะลอออกไปก่อน โดยยอมรับว่าทางจังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้ทำผิดที่พยายามฟื้นฟูกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว แต่ตั้งข้อห่วงใยที่สำคัญว่าหากเปิดรับนักท่องเที่ยวเร็วและเกิดการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นวงกว้างจะยิ่งสร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมากกว่าเดิมหรือไม่ เพราะมีตัวอย่างของจังหวัดภูเก็ตให้เห็นแล้วว่าแม้จะเป็นแซนด์บ็อกซ์ และได้รับการฉีดวัคซีนเกิน 70% แล้ว แต่ก็ยังระบาดหนักเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรายวันจำนวนมาก ดังนั้นจึงอยากขอให้พิจารณาทบทวนอย่างละเอียดถี่ถ้วนทุกมิติเพื่อให้เกิดผลดีที่สุด