ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผวจ.ชลบุรี มั่นใจสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ดีขึ้นต่อเนื่องหลังเร่งระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชน ผู้สูงอายุ และกลุ่มทำงานด้านการท่องเที่ยว ยันพัทยาเปิดเมืองได้ 1 ต.ค.นี้ ขณะที่ สสจ.เผยแผนเร่งตรวจเชิงรุกด้วยเครื่อง ATK
วันนี้ (7 ก.ย.) นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เผยถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ จ.ชลบุรี ว่ามีแนวโน้มลดลง หลังทางจังหวัดได้เร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังจะเร่งฉีดวัคซีนให้ผู้ที่ทำงานในภาคการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการเปิดเมืองพัทยา ในวันที่ 1 ต.ค.นี้
เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ และยังเป็นการเร่งฟื้นเศรษฐกิจให้จังหวัด อีกทั้งยังจะเน้นการฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต โดยขณะนี้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ นายแพทย์อภิรัต กตัญญุตานนท์ สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า จากนี้จะเน้นการตรวจเชิงรุกด้วย ATK ในประชาชนกลุ่มเสี่ยง ซึ่งหากพบว่าพื้นที่ใดมีการแพร่ระบาด หรือสงสัยว่าจะมีการแพร่ระบาดจะเร่งส่งเจ้าหน้าที่เข้าทำการตรวจคัดกรอง
เพื่อแยกผู้ติดเชื้อเข้าสู่กระบวนการรักษาในทันที โดยคาดว่า จ.ชลบุรี จะได้รับการสนับสนุนชุดตรวจ ATK ประมาณ 100,000 ชุด
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วย นางสุภาพร เทียนไชย นายกเหล่ากาชาดจังหวัด และนายแพทย์อภิรัต กตัญญุตานนท์ สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ได้นำส่วนราชการ ลงพื้นที่แจกถุงยังชีพ ข้าวกล่องและน้ำดื่มให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
โดยได้แจกให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่ห้างโลตัส สาขาบ้านสวน ห้างบิ๊กซี โฮมโปร อ.เมืองชลบุรี รวมทั้งกลุ่มไรเดอร์ส่งอาหาร เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย
ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่ำกว่าหลักพันติดต่อกันหลายวัน
สำนักงานสาธารณสุข จ.ชลบุรี รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในวันนี้ ว่า มีจำนวน 718 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 7 ราย โดยยังคงพบการระบาดกระจายในเกือบทุกอำเภอ โดยคลัสเตอร์หลักยังอยู่ในสถานประกอบการโรงงานใน อ.ศรีราชา เมืองชลบุรี พนัสนิคม และบ้านบึง รวมทั้ผู้ป่วยกลุ่มที่มีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง กลุ่มพบปะคนจำนวนมาก และการสัมผัสผู้ป่วยทั้งในครอบครัวและที่ทำงาน
ส่งผลให้การแพร่ระบาดระลอกใหม่ในเดือน เม.ย.นี้ จ.ชลบุรี มีผู้ป่วยสะสมรวมทั้งสิ้น 67,605 ราย รักษาหายแล้ว 53,350 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 13,821 ราย เสียชีวิตสะสมทั้งสิ้น 434 ราย