xs
xsm
sm
md
lg

“เต่าปูลู” หางยาวที่สุดในโลกหลงออกจากป่าถูกรถทับกระดองบนดอยสุเทพ-ชาวบ้านเร่งช่วยคืนธรรมชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - “เต่าปูลู” เต่าหางยาวที่สุดในโลก หลงออกมาจากป่า โผล่บนถนนกลางหมู่บ้านดอยสุเทพโดนรถทับกระดองเสียหายเล็กน้อยแต่ไม่ได้รับบาดเจ็บ ชาวบ้านพบเห็นเร่งช่วยเหลือนำปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ ระบุเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ และตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศผืนป่า


รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า เมื่อเวลาประมาณ 08.30 น. วันนี้ (4 ก.ย. 64) นายชัยนาท กาวิปลูก ชาวบ้านหมู่ 9 บ้านดอยสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดกับวัดพระธาตุดอยสุเทพ พบเต่าตัวหนึ่งนอนอยู่บนถนนบริเวณทางเข้าหมู่บ้าน คาดว่าเต่าตัวดังกล่าวน่าถูกรถทับตรงบริเวณปลายกระดองด้านซ้ายได้รับความเสียหาย จึงเข้าให้การช่วยเหลือ พบว่าไม่ได้รับบาดเจ็บมากนัก รวมทั้งสังเกตพบว่าเต่าตัวนี้เป็นเต่าปูลู หนึ่งในสัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งมีลักษณะพิเศษอยู่ตรงส่วนหางที่ยาวจนได้ชื่อว่าเป็นเต่าที่หางยาวที่สุดในโลก และเป็นตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศและผืนป่า คาดว่าอาจจะหลงออกมาจากป่าที่อยู่ล้อมรอบหมู่บ้าน ดังนั้นจึงได้เร่งให้การช่วยเหลือนำเต่าปูลูตัวดังกล่าวกลับไปปล่อยคืนสู่ป่าบริเวณลำห้วยต้นน้ำด้านทิศใต้ของหมู่บ้านอย่างปลอดภัยในที่สุด


สำหรับ “เต่าปูลู” (Platysternon megacephalum) เป็นสัตว์น้ำจืด วงศ์ Platysternidae มีลักษณะพิเศษคือมีหัวขนาดใหญ่ กระดองยาว ปากงุ้มเป็นตะขอและแข็งแรงมาก เท้ามีเล็บแหลมคม ขาหน้ามี 5 นิ้ว ขาหลังมี 4 นิ้ว ปกคลุมด้วยเกล็ดหนามกระจายอยู่ทั่วฝ่ามือฝ่าเท้า และมีหางคล้ายแส้ความยาวเท่าลำตัว เต่าปูลูไม่สามารถหดหัวและขาเข้าไปในกระดองได้เหมือนเต่าชนิดอื่น โดย “เต่าปูลู” สามารถปีนป่ายโขดหินและต้นไม้ได้ จึงชอบอาศัยอยู่ตามภูเขาสูง ลำธารน้ำตก และพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ออกหากินในเวลากลางคืน พักผ่อนในเวลากลางวัน และจำศีลในฤดูหนาวโดยหลบอาศัยอยู่ในซอกหิน หรือตามโพรงไม้ใต้น้ำ


ทั้งนี้ เต่าปูลูไม่ค่อยออกหากินในช่วงจำศีลแต่ชอบปีนตอไม้ขึ้นไปอาบแดด ฤดูวางไข่ของเต่าปูลูคือช่วงปลายเดือนเมษายน ซึ่งเต่าปูลูนั้นเป็นดัชนีที่บ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า เนื่องจากเป็นเต่าที่อาศัยอยู่ป่าต้นน้ำที่สมบูรณ์ โดยกฎหมายจัดให้เต่าปูลูเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎกระทรวง กําหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 IUCN (2011) จัดสถานภาพการอนุรักษ์ (Conservation status) เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (EN-Endangered) การคุ้มครองตามอนุสัญญา CITES (2011) จัดอยู่ในบัญชี 2 (Appendix II)










กำลังโหลดความคิดเห็น