xs
xsm
sm
md
lg

กล้องดักถ่ายจับภาพลูกกวางผา อยู่ได้ดีในธรรมชาติ! หลังปล่อยคืนป่า ขสป.เชียงดาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กล้องจับภาพลูกกวางผา 3 ตัว หลังปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ณ ขสป.เชียงดาว


สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว เผยแพร่ข้อมูลการติดตามหากินของลูกกวางผาในธรรมชาติ โครงการฟื้นฟูประชากรกวางผา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ในระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการติดตามประชากร ขนาดพื้นที่อาศัย และกิจกรรมของกวางผา จำนวน 3 ตัว หลังมีการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และติดตามด้วยปลอกคอสัญญาณดาวเทียม การใช้กล้องดักถ่ายภาพ และใช้การสังเกตโดยตรง โดยมีระยะเวลาศึกษาติดตาม 11 เดือน

ผลการศึกษาหลังการปล่อยกวางผาจำนวน 3 ตัว เพศผู้ 2 ตัว และเพศเมีย 1 ตัว สู่พื้นที่ป่าธรรมชาติพบว่ากวางผาเพศผู้ มีอาณาเขตพื้นที่หากิน (0.369 ตารางกิโลเมตร) และ พื้นที่อาณาเขตใช้ประจำ (0.074 ตารางกิโลเมตร) กว้างมากกว่าพื้นที่หากิน (0.099 ตารางกิโลเมตร) และ พื้นที่อาณาเขตใช้ประจำของเพศเมีย (0.02 ตารางกิโลเมตร) โดยมีจุดกึ่งกลางพื้นที่อาศัยใหม่ของเพศผู้จะอยู่ห่างจากกรงปรับสภาพประมาณ 327- 550 เมตร และ เพศเมียจะมีพื้นที่อาศัยใหม่อยู่ห่างจากกรงปรับสภาพ ประมาณ 456.07 เมตร

ลักษณะโครงสร้างของสังคมพืชที่กวางผาทั้ง 3 ตัวเลือกใช้ คือ ป่าดิบเขา ที่มีเรือนยอด ไม่แน่นทึบ มีความลาดชันประมาณ 30º-70º พื้นล่างปกคลุมด้วยพืชตระกูลหญ้า มีชนิดไม้เด่นคือ สนสามใบ ก่อ แอบ ดอกขาวและเก็ดดำ นอกจากนี้ยังพบว่ากวางผามีระยะทางเดินเฉลี่ยในช่วงฤดูร้อนที่มากกว่าฤดูหนาวและ ฤดูฝน เนื่องจากกวางผาพยายามหาแหล่งพืชอาหารและแหล่งน้ำเพียงพอต่อความต้องการ ในช่วงที่สภาพป่า แห้งแล้ง

สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว ให้ข้อมูลวิถีชีวิตของกวางผาอีกว่า ปกติกวางผาจะหากินเป็นฝูงเล็กในการออกหากิน มีจำนวน กวางผาในฝูงละ 2-4 ตัว โดยปกติจะประกอบด้วยกวางผาเพศผู้ 1 ตัว กวางผาตัวเมีย 1-2 ตัว และลูกกวางผา แต่ในธรรมชาติลูกกวางผามักจะติดตามการหากินร่วมกันกับแม่กวางผาจนอายุ 1.5- 2 ปี จึงจะแยกออกไปหากินร่วมกับกวางผาอื่นสร้างเป็นฝูงใหม่

การแยกตัวนั้นกวางผาที่เป็นเพศผู้มักจะแยกตัวจากฝูงเดิมเร็วกว่ากวางผาเพศตัวเมีย โดยจะโดนกวางผาตัวผู้ที่อยู่ในฝูงจะขับไล่ลูกกวางผาเพศผู้ออกจากฝูง ให้ไปตั้งกลุ่มใหม่และมีการครอบครองอาณาเขตหากินของตัวเอง แต่ในกวางผาเพศเมียจะยังคงติดตามฝูงไปจนอายุ 2 ปี ถึงจะแยกออกไปรวมกับกวางผาเพศผู้ที่ครอบครองอาณาเขตหากินที่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่ช่วยป้องกันการเกิดเลือดชิด (Inbreeding) ในฝูงประชากรกวางผาเดิม และเป็นการคัดเลือกโดยธรรมชาติให้ได้พันธุกรรมกวางผาที่แข็งแรง เพื่อยังคงเผ่าพันธุ์กวางผาในพื้นที่ได้ดำรงชีวิตต่อไปไม่สูญพันธุ์ไปจากพื้นที่
สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว ได้ดำเนินโครงการการติดตามกวางผาภายหลังการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ตามโครงการการฟื้นฟูประชากรกวางผาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ใครสนใจติดตาม สามารถดาวโหลดอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://drive.google.com/.../1bGx960L1KzbmXFtF1gD.../view...

กวางผา เป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 15 ชนิดของประเทศไทย โดยอนุสัญญา CITES จัดไว้ในบัญชีใกล้สูญพันธุ์ เป็นสัตว์จำพวกแพะ แกะ เช่นเดียวกับเลียงผาแต่มีขนาดเล็กกว่า และจะอยู่บนยอดเขาสูงชันในที่ระดับน้ำสูงชันมากกว่า 1,000 เมตร ในไทยเคยพบที่ดอยม่อนจอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ดอยเลี่ยม ดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่


ทั้งนี้ กวางผา หรือสมยานามว่า “ม้าเทวดา” อยู่ในป่าธรรมชาติที่พบในประเทศไทย มีชื่อสามัญว่า Buemese Goral และชื่อวิทยาศาสตร์ Nemorhaedus evansi มีสถานะเป็นสัตว์ป่าสงวน หากมองผิวเผินอาจคิดว่าเป็นเลียงผา เพราะลักษณะโดยทั่วไปมีความคล้ายคลึงกัน และมีถิ่นที่อยู่อาศัยทับซ้อนกัน แต่กวางผานั้นมีขนาดเล็กกว่า

ข้อมูลอ้างอิง สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว


กำลังโหลดความคิดเห็น