นครสวรรค์ - รองอธิบดีอัยการภาค 6 เผยกลไก 4 ฝ่ายร่วมเดินหน้าคดีอดีต ผกก.โจ้-ลูกทีมใช้ถุงคลุมหัวผู้ต้องหาจนเสียชีวิต ชี้เป็นคดีฆ่าคนตายและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตำรวจไม่มีสิทธิทำคดีฝ่ายเดียว ไปไหนอัยการต้องรู้ ระบุทีม ผกก.โจ้แจ้งเท็จกับทีมแพทย์ อ้างยังไม่ได้จับกุมผู้ต้องหา ทำให้ผลชันสูตรที่ถูกต้องออกมาช้า จ่อแจ้งข้อหาเพิ่ม
ความคืบหน้าคดี พ.ต.อ.นิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผกก.โจ้ พร้อมลูกทีมชุด 05 สภ.เมืองนครสวรรค์ คลุมหัวรีดผู้ต้องหาจนเสียชีวิต ซึ่งนายสมพงษ์ เย็นแก้ว รองอธิบดีอัยการภาค 6 พร้อมคณะ และ พล.ต.ต.ระพีพงษ์ สุขไพบูลย์ ผบก.ภ.จว.นครสวรรค์ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม ทีมพนักงานสอบสวนในคดี แพทย์ผู้ชันสูตรศพเหยื่อผู้เสียชีวิต และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองโดยนายอำเภอเมืองนครสวรรค์ ประชุมหารือวางแนวทางในการทำสำนวนคดีเพื่อให้เกิดความโปร่งใส พร้อมเปิดแถลงข่าวเมื่อค่ำที่ผ่านมา (30 ส.ค. 64)
นายสมพงษ์กล่าวในการแถลงข่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ออกใบชันสูตรพลิกศพการเสียชีวิตที่ สภ.เมืองนครสวรรค์เรียบร้อยแล้ว สามารถใช้อ้างอิงได้เพราะมีลายมือชื่อยืนยันจากทั้ง 4 หน่วยงาน คือ ฝ่ายปกครอง อัยการ แพทย์ และพนักงานสอบสวน ซึ่งจะเห็นได้ว่าตำรวจหรือพนักงานสอบสวนเป็นเพียง 1 ใน 4 ฝ่าย ดังนั้นการที่จะบอกว่าตำรวจช่วยเหลือกันนั้นจึงยืนยันด้วยการตรวจ 4 ฝ่ายไปแล้ว
หลังจากนี้สิ่งที่พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการคือ สอบสวนเพื่อทำสำนวนการชันสูตรพลิกศพให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยการสอบสวนนั้นตำรวจไม่มีสิทธิทำฝ่ายเดียว แต่ต้องทำร่วมกับพนักงานอัยการด้วย ซึ่งตนได้มอบนโยบายให้อัยการ จ.นครสวรรค์ตั้งคณะทำงานซึ่งมีเวลาทำเต็มที่เพื่อร่วมกับพนักงานสอบสวน หากสอบปากคำที่ไหนอัยการต้องรู้และต้องร่วมกันตรวจว่าตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่ เพื่อให้อัยการรู้ทุกเรื่อง เอกสารที่เกี่ยวข้องทางอัยการต้องรู้ร่วมกัน
นายสมพงษ์กล่าวอีกว่า คดีนี้มีหลักคดีในการปฏิบัติทั่วไปเรียกว่า คดีวิสามัญฆาตกรรม คือการตายอันเกิดจากเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่ากระทำหน้าที่ แต่ในกรณีนี้คือเรื่องของการฆ่าคนตายและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งมีปัญหาว่าการสอบสวนในสำนวนตามกฎหมายมาตรา 155/1 ก็กำหนดให้พนักงานอัยการจะต้องสอบสวนร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจด้วย
โดยสำนวนคดีที่เป็นการวิสามัญฆาตกรรมนั้นจะต้องรอศาลไต่สวน ดังนั้นหากทำสำนวนการชันสูตรพลิกศพเสร็จภายใน 30 วันแล้ว จะต้องนำสำนวนไปยื่นต่อศาลเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่มีการควบคุมตัวผู้ตายและตายระหว่างควบคุมตัว รวมทั้งตายจากการกระทำของใคร ที่ไหน อย่างไร เมื่อศาลไต่สวนเสร็จก็จะคืนสำนวนให้อัยการแล้วอัยการก็จะส่งไปให้พนักงานสอบสวนนำไปปฏิบัติในคดีวิสามัญฆาตกรรม
นายสมพงษ์กล่าวอีกว่า เมื่อการดำเนินการสอบสวนแล้วเสร็จอำนาจในการสั่งคดีไม่ใช่อำนาจของอัยการ จ.นครสวรรค์ แต่เป็นอำนาจของอัยการสูงสุด หรือผู้รักษาการแทนเท่านั้นที่มีอำนาจในการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง สิ่งที่เราห่วงที่สุดในคดีนี้ก็คือเรากลัวว่าการสอบสวนจะชักช้า เนื่องจากผู้ต้องหาฝากขังอยู่และต้องสั่งคดีให้ได้ภายใน 84 วันที่มีการฝากขัง จากหลักฐานที่ตนได้ตรวจดูยืนยันได้ว่าพนักงานสอบสวนในที่นี้ไม่มีใครกล้าเปลี่ยนแปลงแก้ไขและเชื่อใจได้ โดยเฉพาะเมื่ออัยการได้ร่วมกับตำรวจในการสอบสวน สามารถโต้แย้งได้ เมื่อมีปัญหาก็สามารถแจ้งสื่อมวลชนและรายงานผู้บังคับบัญชาให้รับทราบได้ด้วย
รองอธิบดีอัยการภาค 6 กล่าวด้วยว่า การชันสูตรที่ถูกกฎหมายเพิ่งออกใบชันสูตรได้นั้น (30 ส.ค.) โดยเหตุผลที่หยุดค้างมาเกิดจากผู้ต้องหา ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานแจ้งความเท็จต่อแพทย์ที่รับรักษาว่ายังไม่ได้จับกุมผู้ต้องหา ทำให้กลไก 4 หน่วยงานไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งถือเป็นความผิดการเบี่ยงเบนการแจ้งเท็จ ฯลฯ ซึ่งถ้าพบความผิดใดมากกว่านี้ก็จะดำเนินคดีเพิ่มเติมอีก