xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการเผยใช้เมรุเผาศพเผาขยะติดเชื้อผิดกฎหมาย และอันตรายจากสารก่อมะเร็ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาคกลาง - นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เป็นห่วงการใช้เมรุเผาศพเผาขยะติดเชื้อ หลังจากมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ขยะล้น เผยประชาชนโดยรอบอันตรายเพราะมีสารก่อมะเร็ง ขณะที่เตาเผาที่ถูกต้องมีไม่เพียงพอ แนะภาครัฐควรคุยกันเพื่อไปใช้เตาเผาขยะชุมชนและเตาเผาขยะอุตสาหกรรม

นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย เผยว่า เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย รวมถึงขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาล อีกจำนวนมาก ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรที่จะต้องตระหนึกถึงเรื่องการกำจัดขยะติดเชื้อดังกล่าวว่าจะดำเนินการอย่างไร

โดยที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ตามสื่อว่า รพ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ขอบริจาคไม้ฟืนและถ่านเพื่อมอบให้สำนักสงฆ์ไตรภูมิ ต.ถาวร อ.เฉลิมพระเกียรติ จ. บุรีรัมย์ เพื่อใช้เผาขยะติดเชื้อจาก รพ. และศูนย์พักคอยที่มีขยะติดเชื้อวันละ 600 กก.ในเมรุเผาศพ ช่วงนี้มีขยะติดเชื้อตกค้างรอการเผาอีก 2 ตัน และที่วัดสวนใน ต.วังกระแจะ อ.เมือง จ.ตราด ใช้เมรุเผาศพเผาขยะติดเชื้อจาก รพ.สนาม และศูนย์พักคอยจำนวนมากจนเมรุเผาศพแตก


นอกจากนี้ ยังมีขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาล และที่ต่างๆ ซึ่งจะประกอบด้วยชิ้นเนื้อ เลือด เข็ม มีด หน้ากากอนามัย ชุด PPE จาน กล่องพลาสติก ถุงมือ ผ้ากอซ สำลี เฟซชิลด์ เศษอาหารและอื่นๆ ที่เรียกว่า Bio medical waste มีเชื้อโรคปะปนจำนวนมาก ตามหลักการแล้วจะไม่มีการแยกขยะติดเชื้อออกจากกัน เช่น นำเศษอาหารและภาชนะที่ผู้ป่วยใช้แล้วไปทิ้งเป็นขยะชุมชน เพราะมีความเสี่ยงที่เชื้อโรคจะแพร่กระจายได้ง่าย

ขยะทั้งหมดจะถูกใส่ในถุงแดงมัดปากถุงให้แน่นและพ่นด้วยน้ำยาคลอรีนเข้มข้นด้านนอกถุงให้ทั่ว และขนไปเผาในเตาเผาที่ออกแบบมาโดยเฉพาะด้วยความร้อนสูงถึง 850 องศา ในช่องแรก เพื่อเผาขยะ และเผาก๊าซในช่องที่ 2 ด้วยความร้อน 1,000-1,200 องศา และต้องมีอุปกรณ์กำจัดมลพิษทางอากาศ เช่น SO2 NO2 ฝุ่นละออง สารไดออกซิน และฟิวแรนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชนิดร้ายแรง

นายสนธิ เผยอีกว่า ขยะติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีเศษพลาสติกปะปนมาจำนวนมาก เช่น หน้ากาก หลอดฉีดยา ชุด PPE ถุงมือ เฟซชิลด์ กล่องใส่ภาชนะ ถุงแดง ถุงน้ำเกลือ เป็นต้น หากนำไปฝังกลบขยะเหล่านี้จะไม่ย่อยสลายและทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้เมื่อถูกย่อยด้วยจุลินทรีย์ในดิน จึงต้องนำไปกำจัดด้วยเตาเผาเท่านั้น หากความร้อนในช่องแรกต่ำกว่า 850 องศา พลาสติกทั้งหลายซึ่งมีสารคลอรีนเป็นองค์ประกอบจะรวมตัวเป็นสารไดออกซินและฟิวแรน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1A คือ หากร่างกายได้รับเข้าไปในระยะยาวจะก่อให้เกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และเม็ดเลือดขาว


นอกจากนี้ ห้องเผาก๊าซอุณหภูมิสูง ช่องที่ 2 จะทำให้ฝุ่นละอองและก๊าซต่างๆ ลดลงอย่างมากแต่ยังต้องติดตั้งอุปกรณ์บำบัดมลพิษทางอากาศดักไว้เพื่อให้ได้มาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษต่อไป แต่ขณะนี้ขยะติดเชื้อเกิดขึ้นจำนวนมากจนเตาเผาที่มีอยู่ไม่เพียงพอ อาจนำไปเผาในโรงงานปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นเตาเผาแนวนอนแบบหมุน (Rotary kline) ก็ได้ เพราะมีอุณหภูมิสูงถึง 1,000 กว่าองศา หรือเตาเผาขยะมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตไฟฟ้าก็ได้ แต่มีต้องอุณหภูมิในห้องเผามากกว่า 850 องศา และมีอุปกรณ์กำจัดมลพิษทางอากาศด้วย รวมทั้งต้องมีระบบพ่นสาร Activated carbon เพื่อดักจับสารไดออกซิน ต่อด้วยระบบถุงกรองอากาศ ส่วนเถ้าหนักสามารถนำไปฝังกลบได้

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถดำเนินการนำขยะติดเชื้อไปเผาในเตาเผาดังกล่าวได้เพราะติดข้อกฎหมาย ห้ามเอาขยะติดเชื้อไปเผาในเตาเผาขยะชุมชนและเตาเผาขยะอุตสาหกรรม เนื่องจากภาครัฐไม่ยอมคุยกัน ขยะติดเชื้อจึงล้นเมือง จึงมีการนำขยะติดเชื้อไปเผาในเมรุเผาศพ ซึ่งไม่สามารถทำได้ เพราะอุณหภูมิในช่องเผาไม่ถึงตามที่กำหนดไว้ ทำให้เกิดสารไดออกซินและฟิวแรน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง มีไฮโดรคาร์บอนด์ และคลอรีนเป็นองค์ประกอบฟุ้งกระจายไปสู่ชุมชนโดยรอบ รวมทั้งมลพิษอื่นๆ ด้วย ส่วนเชื้อโรคจะฟุ้งกระจายออกไปในช่วงของการขนส่งเพื่อนำเข้าเตา นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่เมรุเผาศพจะแตกด้วยเพราะต้องใช้ความร้อนสูงเผาเป็นเวลานานมากกว่าการเผาศพปกติ เช่น มากกว่า 3 ชั่วโมง ทำให้อิฐและปูนแตกร้าวได้


กำลังโหลดความคิดเห็น