xs
xsm
sm
md
lg

โควิด-19 คร่าชีวิต 7 รายที่อยุธยา ป่วยเพิ่ม 339 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พระนครศรีอยุธยา - อยุธยาผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันยังสูง วันนี้พบ 339 ราย เสียชีวิต 7 ราย ทะลุ 100 รายแล้ว ด้านผู้ว่าฯ อยุธยา ยังเดินหน้าตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และผู้ติดเชื้อ

วันนี้ (9 ส.ค.) สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันนี้มียอดสะสม 12,075 ราย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 339 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 7 ราย ทำให้เสียชีวิตสะสม 103 ราย ทั้งนี้ โดยที่ประชุมมีการหารือแนวทางปฏิบัติการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังพบว่ามีการติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง พบตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อสูงมาจากสัมผัสในโรงงาน/บริษัท และสัมผัสคนในครอบครัว

ขณะเดียวกัน วันนี้ที่วัดสีกุก ตำบลน้ำเต้า อำเภอบางบาล นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และผู้ติดเชื้อ ณ ศูนย์พักคอย ตำบลน้ำเต้า อำเภอบางบาล โดยมี นายสมยศ เกตุสุวรรณ นายอำเภอบางบาล นางนงนาถ หวังเทพอนุเคราะห์ นายก อบต.น้ำเต้า นายพินิจ พูลชะโก สาธารณสุขอำเภอบางบาล เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อของอำเภอบางบาล

สำหรับศูนย์แห่งนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อแยกผู้ติดเชื้อโควิด-19 ออกจากครอบครัวและชุมชน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง ซึ่งสามารถรองรับผู้ติดเชื้อขนาด 50 เตียง และขยายเพิ่มได้อีก 5 เตียง รวมเป็น 55 เตียง ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเข้าระบบแล้วจำนวน 48 เตียง และมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 อำเภอบางบาล มีผู้ติดเชื้อสะสม 599 ราย มีการตั้งศูนย์พักคอยแล้ว 4 แห่ง สามารถรองรับได้ 220 เตียง ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้พูดคุยกับผู้ติดเชื้อภายในศูนย์แห่งนี้ผ่านระบบเสียงตามสาย เพื่อเป็นการให้กำลังใจและแนะนำวิธีปฏิบัติเมื่อครบระยะเวลาการกักตัว

นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า การบริหารจัดการศูนย์พักคอยในหลายพื้นที่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นไปอย่างเรียบร้อย ประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมกันสนับสนุนเพื่อดูแลผู้ติดเชื้อเป็นอย่างดี แต่พบปัญหา คือ ผู้ติดเชื้อในระบบประกันสังคม ต้องการรักษาตามสิทธิของตนเองมากกว่าการเข้าระบบศูนย์พักคอย ทำให้อาจเกิดความล่าช้าและเกิดการแพร่ระบาดในครอบครัว

จึงได้สั่งการให้หน่วยบริการทางการแพทย์ของเอกชนเร่งแก้ปัญหาตรงจุดนี้ และมอบหมายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ อสม. ทำการสแกนพื้นที่คัดแยกผู้ติดเชื้อในชุมชน หรือผู้ต้องสงสัยจะติดเชื้อออกจากชุมชนนำเข้าสู่ระบบการรักษา HI/CI โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง






กำลังโหลดความคิดเห็น