กาญจนบุรี - เจ้าท่าป่าไม้ ที่ดิน นำหมายค้น ศาลจังหวัดทองผาภูมิ เข้าตรวจสอบภูไพรธารน้ำ รีสอร์ต หลังอดีตรอง ผบก.ภ.จว.สิงห์บุรี ยื่นหนังสือร้องเรียน อธิบดีกรมป่าไม้ ขอให้ตรวจสอบที่ดินของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ล่วงล้ำลำแม่น้ำแควน้อยหรือไม่
จากกรณีที่ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ โมรานนท์ อดีต รอง ผบก.ภ.จว.สิงห์บุรี ได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมป่าไม้ ขอให้ตรวจสอบที่ดินบริเวณภูไพรธารน้ำ รีสอร์ต ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส บริเวณพื้นที่ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยอ้างว่าอาจจะมีการล่วงล้ำลำแม่น้ำแควน้อยหรือไม่ และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้หรือไม่นั้น
เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามที่ 1 (ภาคกลาง) ร่วมกับหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) กรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 (ราชบุรี) เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ทองผาภูมิ เจ้าท่ากาญจนบุรี เจ้าพนักงานที่สำนักงานที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี สาขาทองผาภูมิ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอทองผาภูมิ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรทองผาภูมิ ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริง
ล่าสุด วันนี้ (6 ส.ค.) เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ขออนุมัติหมายค้นศาลจังหวัดทองผาภูมิ เพื่อขอเข้าตรวจค้นสถานที่บริเวณโฉนดที่ดินเลขที่ 7783 ด้านติดกับแม่น้ำแควน้อย จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ พบนายประสิทธิ์ วัฒนมงคล ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ดูแลภูไพรธารน้ำ รีสอร์ต และได้นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพื้นที่ ซึ่งสภาพปัจจุบันได้ทำเป็นสวนหย่อมปลูกปาล์มหลายชนิด และทำทางเท้าปูด้วยหินแผ่น
จากการรังวัดหมายแนวเขตโฉดที่ดินเดิม โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี สาขาทองผาภูมิ เจ้าหน้าที่ได้จับพิกัดบริเวณที่ดินที่อ้างว่าเป็นที่งอกริมตลิ่งจากโฉนดเดิม พบว่ามีความยาว 326 เมตร กว้าง 10-36 เมตร เนื้อที่ 4-2-72 ไร่ (7,489 ตารางเมตร) พื้นที่มีสภาพเป็นหินก้อนขนาดเล็ก ใหญ่ กองทับกันสูงขึ้นมาเหนือน้ำ และเมื่อเปรียบเทียบกับภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลัง พบว่าพื้นที่เดิมเป็นน้ำมาตลอด ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบัน จึงเชื่อได้ว่าเป็นการทิ้งหินถมดินลงในแม่น้ำแควน้อย
จากการพิจารณาแล้วเห็นว่า พื้นที่ที่ตรวจสอบเนื้อที่ 4-2-72 ไร่ เดิมเป็นแม่น้ำแควน้อย ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ และเป็นป่า ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ดังนั้น การทิ้งหินถมดิน การปลูกต้นไม้ ทำสวนหย่อม และทำทางเท้าปูด้วยหินแผ่นจึงมีลักษณะเป็นการปลูกสร้างสิ่งอื่นใดล่วงล้ำเข้าไปในแม่น้ำแควน้อย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า ตามคำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุด จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 มาตรา 117 วรรคหนึ่ง และมาตรา 119 พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 54 และประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 พร้อมบันทึกเรื่องราว และเอกสารหลักฐานนำร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 5 บก.ปทส. เพื่อให้ดำเนินคดีต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป
เจ้าหน้าที่ที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาจากการตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ได้ขออนุญาตทิ้งหินกันน้ำกัดเซาะความยาวประมาณ 100 เมตร บริเวณหน้าที่ดิน น.ส.3 ก. ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 7783 โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 สาขากาญจนบุรี อนุญาตให้ทำในแนวเขตที่ดินที่มีสิทธิครอบครอง
ต่อมา วันที่ 23 พฤษภาคม 2550 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ได้ยื่นขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน “ที่งอกริมตลิ่ง” เนื้อที่ 3-2-41.2 ไร่ หน้าโฉนดที่ดิน เลขที่ 7783 และขอยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินที่งอกริมตลิ่ง ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2550
วันที่ 10 เมษายน 2551 เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ส่วนล่างติดแม่น้ำแควน้อย ยาวประมาณ 200 เมตร กับแนวโฉนดที่ดิน โดยเปรียบเทียบภาพถ่ายทางอากาศพบว่า บริเวณพื้นที่ชายน้ำไม่มีอยู่ จึงน่าจะเป็นการถมดินออกมา สำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ 3 สาขากาญจนบุรี จึงได้มีหนังสือแจ้งให้รื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำออกไปภายใน 30 วัน แต่มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้เพิกถอนหนังสือฉบับดังกล่าว
วันที่ 27 สิงหาคม 2552 เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจยึดที่ดินพิพาท เนื้อที่ 3-2-34 ไร่ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และได้แจ้งความไว้ที่ สภ.ทองผาภูมิ โดยพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง และต่อมาพนักงานอัยการได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องทุกข้อกล่าวหา
วันที่ 18 มิถุนายน 2557 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาตามที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ฟ้องคดี ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งหัวหน้าสำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ 3 สาขากาญจนบุรี ในฐานะ “เจ้าท่า” ที่ให้รื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำออกไป ภายใน 30 วัน แต่ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง
ต่อมา วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาว่าตามศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้น เห็นพ้องด้วยในผล พิพากษายืน เนื่องจากได้วินิจฉัยว่า ที่ดินบางส่วนที่อยู่นอกโฉนดของผู้ฟ้องคดี อ้างว่าเป็นที่งอกริมตลิ่งนั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างว่ากระแสน้ำในแม่น้ำแควน้อยมีความรุนแรงและเชี่ยวกราก กัดเซาะที่ดินริมตลิ่ง จึงขออนุญาตทิ้งหินกันน้ำเซาะ ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยว่าจะเกิดที่งอกริมตลิ่งออกจากที่ดิน แต่เป็นที่ดินที่ได้ถมลงไปในแม่น้ำแควน้อย
เมื่อได้ปลูกต้นไม้ ทำสวนหย่อม และทำทางเท้า การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการปลูกสร้างล่วงล้ำแม่น้ำ ไม่ใช่เป็นการใช้ประโยชน์ในที่ดินตามที่ได้รับอนุญาต จึงเป็นการกระทำล่วงล้ำเข้าไปในแม่น้ำแควน้อย และที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยสภาพ ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน กล่าวคือเป็นทางน้ำหรือที่ชายตลิ่ง