เชียงใหม่ - สาวอดีตนักวิจัยด้านพันธุ์พืชผันตัวเป็นเกษตรกรยึดอาชีพเพาะไม้ประดับสวยงามออกขาย โดยเฉพาะไม้ด่างนานาชนิดที่กำลังได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของตลาด อาศัยความรู้ความชำนาญนำเทคโนโลยีเข้าช่วยขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเนื้อเยื่อในห้องแล็บ ได้ต้นกล้าถอดแบบจากต้นแม่ไม้หายาก ลูกค้าแย่งกันซื้อแทบไม่พอขาย สวนกระแสโควิด-19
จากกระแสความตื่นตัวในการปลูกไม้ประดับสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้ด่างนานาชนิดที่กำลังได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของผู้คนจำนวนมากที่อยากได้ไว้ในครอบครอง ซึ่งส่งผลให้ไม้ด่างหลายชนิดราคาดีดพุ่งพรวดขึ้นจากแต่ก่อนหลายเท่าตัว ทำให้ปัจจุบันมีเกษตรกรหลายรายต่างเพาะขยายพันธุ์ไม้ด่างออกขายตอบสนองความต้องการของตลาด ซึ่งนางสาวจำเริญสุข พิพัฒน์ตันติศักดิ์ อายุ 41 ปี เกษตรกรในตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น โดยอาศัยความรู้ความชำนาญจากการที่ศึกษาจบมาทางด้านพันธุ์พืชโดยตรงและเคยทำงานเป็นนักวิจัยเกี่ยวกับพันธุ์พืชมาก่อน จึงนำความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเพาะเนื้อเยื่อมาใช้ในการขยายพันธุ์ไม้ประดับหายากและไม้ด่างออกขาย ทั้งมอนสเตอรา, ฟิโลเดนดรอน หรืออโลคาเซีย เป็นต้น โดยใช้เนื้อเยื่อจากต้นแม่พันธุ์ที่เป็นไม้หายากหรือไม้ด่าง ทำการเพาะเนื้อเยื่อในห้องแล็บจนได้ต้นกล้าที่ถอดแบบมาจากแม่พันธุ์ พร้อมขายให้ผู้ที่ต้องการทั้งการวางขายและช่องทางออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาปรากฏว่าผลตอบรับค่อนข้างดีมาก เห็นได้จากที่มีการสั่งซื้อต่อเนื่องจากทั่วประเทศผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก “All My little plants”
ทั้งนี้ นางสาวจำเริญสุขเปิดเผยว่า อดีตเคยทำงานเป็นนักวิจัย ก่อนที่จะผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรทำฟาร์มเพาะต้นไม้ขายตามความชอบส่วนตัว โดยใช้ชื่อว่า “All My little plants” ซึ่งต้นไม้ที่เพาะขายนั้นมีทั้งไม้ประดับ ไม้กระถาง ไม้มงคล ไม้ตั้งโต๊ะ ไม้ฟอกอากาศ และอื่นๆ รวมทั้งไม้ด่าง ที่แต่ก่อนยังไม่เป็นที่นิยมเท่าทุกวันนี้ด้วย โดยตัวเองจะใช้วิธีการเพาะเนื้อเยื่อในการขยายพันธุ์ กระทั่งต่อมากระแสความนิยมในการปลูกไม้ประดับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงโควิด-19 จากการที่ผู้คนต้องใช้เวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น รวมทั้งเกิดกระแสความนิยมไม้ด่างชนิดต่างๆ ทำให้ราคาดีดตัวสูงขึ้นมาก เพราะไม้ด่างมีจำนวนน้อยและหายาก แต่มีความต้องการมาก ด้วยจุดนี้เองจึงได้ใช้ความรู้ความชำนาญที่มีทำการขยายพันธุ์ไม้ด่างหายากออกขายด้วยการใช้วิธีการเพาะเนื้อเยื่อในห้องแล็บ ซึ่งวิธีการนี้มีจุดเด่นตรงที่ทำให้สามารถขยายพันธุ์ได้เร็วกว่า อีกทั้งได้ต้นกล้าที่ถอดแบบมาเหมือนแม่พันธุ์ สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี
สำหรับราคาขายต้นกล้าไม้ด่างที่ขยายพันธุ์ได้จากการเพาะเนื้อเยื่อของ “All My little plants” นั้น นางสาวจำเริญสุขบอกว่า ราคาขายจะเริ่มต้นที่ต้นละ 200 บาท ไปจนถึงหลักพัน หรืออาจจะสูงกว่านั้นหากเป็นไม้ที่หายากมากๆ อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างต่ำและจับต้องได้ในการเป็นเจ้าของไม้ด่างหายาก ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกและฟูมฟักไม้ด่างตั้งแต่ที่ยังเป็นต้นกล้า พร้อมกับเห็นพัฒนาการและการเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ โดยต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเนื้อเยื่อนั้น หากมองผ่านๆ แล้วอาจจะทำให้คิดว่าดูแลยาก แต่ที่จริงแล้วหากดูแลอย่างถูกวิธีเมื่อผ่านไประยะหนึ่งต้นจะแข็งแรงสมบูรณ์และเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้งจะมีทรงสวยด้วย จึงทำให้ต้นกล้าที่ผลิตได้มีผู้สนใจจากทั่วประเทศสั่งจองซื้อล่วงหน้าอยู่ตลอด จนต้องมีการขยายการผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจไม้ประดับสวยงาม และไม้ด่าง หรือไม้หายากต่างๆ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเพจเฟซบุ๊ก “All My little plants”