ประจวบคีรีขันธ์ - สัญญาณอันตรายมาอีกแล้ว พบซากกระทิงในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ติดเชื้อลัมปีสกิน อายุประมาณ 15-20 ปี น้ำหนักประมาณ 1,200-1,300 กิโลกรัม นอนตายในลำห้วยบริเวณท้ายบ่อ
วันนี้ (13 ก .ค.) ผู้สื่อข่าว จ.ประจวบคีรีขันธ์ รายงานว่า น.ส.สุพร พลพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี อ.กุยบุรี ได้ทำหนังสือแจ้งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กรณีกรมอุทยานแหงชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รายงานผลตรวจพิสูจน์ซากกระทิงในพื้นที่อุทยานฯติดเชื้อลัมปีสกิน ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ ภายหลังเจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กร.1 (ป่ายาง) พบซากกระทิงเพศผู้ อายุประมาณ 15-20 ปี น้ำหนักประมาณ 1,200-1,300 กิโลกรัม นอนตายในลำห้วยบริเวณท้ายบ่อ 2 ขณะลาดตระเวนผ่านเส้นทางหุบตาวิทย์ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2564 ต่อมา ทีมสัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย ทำการผ่าพิสูจน์ซากเบื้องต้นสันนิษฐานว่า สาเหตุการตายเกิดจากการต่อสู้กันเอง
แหล่งข่าวระดับสูงจากนักวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3) สาขาเพชรบุรี ระบุว่า ขณะนี้พบกระทิงหากินในพื้นที่ตามธรรมชาติมากกว่า 300 ตัว แต่มีซากกระทิงติดเชื้อลัมปีสกิน 1 ตัว คาดว่าติดเชื้อจากฟาร์มปศุสัตว์ในพื้นที่ใกล้เคียง จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่อุทยานกุยบุรีติดตามพฤติกรรมการหากินและเฝ้าสังเกตอาการของกระทิง และภายในสัปดาห์นี้ทีมสัตวแพทย์ของกรมอทุยานฯ นำโดยนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต จะเดินทางลงพื้นที่
เพื่อติดตามข้อมูลทางวิชาการ วางแผนป้องกันปัญหากระทิงติดเชื้อเพิ่ม เนื่องจากการป้องกันการติดเชื้อในสัตว์ป่าจะทำได้ยากมาก ทั้งการฉีดวัคซีนหรือป้องกันการติดเชื้อที่มีพาหะจากแมลง แต่เบื้องต้นสามารถป้องกันได้โดยประสานกับสำนักงานปศุสัตว์อำเภอกุยบุรี ปฏิบัติการเชิงรุกป้องกันโรคจากโคและกระบือพื้นที่ 4 หมู่บ้าน ใน ต.หาดขาม เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโดยเร็วที่สุด