เชียงใหม่ - พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 7 ราย ส่วนใหญ่มีประวัติเดินทางไป/กลับ กทม. แต่มี 2 รายเป็นต่างด้าวหนีเข้าเมืองทางชายแดนแม่สอด ก่อนเดินทางต่อเข้าอมก๋อย พร้อมแจงคนโพสต์โรงพยาบาลสนามเรียกเก็บเงินค่ารักษา เกิดจากความเข้าใจผิด
ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่รายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 7 รายวานนี้ (4 ก.ค. 64) ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,192 ราย รักษาหายแล้ว 4,103 ราย รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 63 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลรัฐ 52 ราย และโรงพยาบาลเอกชน 11 ราย แยกเป็นผู้ป่วยสีเขียว 34 ราย สีเหลือง 20 ราย สีส้ม 8 ราย และสีแดง 1 ราย วันนี้ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 26 ราย เท่าเดิม
สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7 ราย ประกอบด้วย
1. รหัส CM 4269 เพศหญิง อายุ 55 ปี ภูมิลำเนาอำเภอเมืองเชียงใหม่ เริ่มมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนหาแหล่งสัมผัสโรค โดยระหว่างวันที่ 21-25 มิถุนายน ทำงานตามปกติที่แผนกผู้ป่วยนอกเวชศาสตร์ฟื้นฟู วันที่ 26 มิถุนายน ไปเซ็นทรัลแอร์พอร์ตพลาซา (ศูนย์อาหารชั้น G และร้านกาแฟ Miracle) วันที่ 28 มิถุนายน-1 กรกฎาคม ทำงานตามปกติ วันที่ 2 กรกฎาคมยังไปทำงานและเริ่มมีอาการ จึงเข้ารับการตรวจ ผลเป็นบวก รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 16 ราย เป็นผู้สัมผัสร่วมบ้าน 1 ราย ผู้สัมผัสในโรงพยาบาล 15 ราย รอผลตรวจ ส่วนที่ห้างสรรพสินค้าเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ให้เฝ้าสังเกตอาการ หากมีอาการผิดปกติให้เข้ารับการตรวจ
2. รหัส CM 4270 เพศหญิง อายุ 57 ปี ภูมิลำเนาอำเภอแม่ริม อาชีพแม่บ้าน เริ่มมีอาการอ่อนเพลียเมื่อ 27 มิถุนายน โดยช่วง 22-24 มิถุนายนเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อพาบุตรชายเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลตำรวจ เข้าพักบ้านพักย่านห้วยขวาง 26 มิถุนายน เดินทางกลับเชียงใหม่ด้วยสายการบินเวียตเจ็ทแอร์ เที่ยวบิน VZ102 กักตัวที่บ้านพักในอำเภอแม่ริม เข้ารับการตรวจและรักษาที่โรงพยาบาลค่ายกาวิละ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในครอบครัว 4 ราย และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลค่ายกาวิละ 1 ราย รอผล ผู้สัมผัสในสายการบินอยู่ระหว่างสอบสวนเลขที่นั่ง
3. รหัส CM 4271 เพศหญิง อายุ 76 ปี ภูมิลำเนาดอยเต่า เป็นผู้สัมผัสร่วมบ้าน CM 4265 ลูกชายที่ไปร่วมงานศพ บ้านฉิมพลี อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ เริ่มมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น เมื่อ 29 มิถุนายน โดยพักอยู่ที่บ้านตลอด และวันที่ 29 มิถุนายนได้ไปฟอกไตที่โรงพยาบาลจอมทอง เข้ารับการตรวจเมื่อ 1 กรกฎาคม ที่โรงพยาบาลดอยเต่า ขณะนี้ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลนครพิงค์แล้ว ไม่มีผู้สัมผัสเพิ่ม
4. รหัส CM 4272 เพศหญิง อายุ 24 ปี อาชีพขายของออนไลน์ ภูมิลำเนาอยู่ อ.สารภี เริ่มมีอาการคันคอ และครั่นเนื้อครั่นตัว วันที่ 2 กรกฎาคม โดยวันที่ 28 มิถุนายนเดินทางไปทำธุระส่วนตัวที่กรุงเทพฯ และพักย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วันที่ 1 กรกฎาคมเดินทางกลับมาเชียงใหม่ ด้วยสายการบินเวียตเจ็ทแอร์ เที่ยวบิน VZ2104 แถวที่ 20 เรียกแกร็บแท็กซี่ไปส่งที่บ้านพักใน อ.สารภี วันที่ 2 กรกฎาคมเดินทางไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคอำเภอสารภี และได้ออกคำสั่งให้ไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลนครพิงค์ วันที่ 3 กรกฎาคมผลพบว่าติดเชื้อ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ อยู่ระหว่างการสอบสวน
5. รหัส CM 4273 เพศหญิง อายุ 26 ปี ภูมิลำเนา อ.เมืองเชียงใหม่ เป็นพนักงานโรงแรม ไม่มีอาการ โดยวันที่ 15 มิถุนายน-1 กรกฎาคมเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อทำเลสิก ที่โรงพยาบาลพระราม 9 ด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล พักที่พักส่วนตัวแถวคันนายาว เดินทางกลับวันที่ 2 กรกฎาคม เข้ากักตัวที่บ้านใน ต.ป่าแดด เข้าตรวจหาเชื้อวันที่ 3 กรกฎาคมที่โรงพยาบาลนครพิงค์ ผลออกเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมเป็นบวก จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 2 ราย เป็นผู้สัมผัสร่วมบ้าน อยู่ระหว่างรอตรวจ ไม่มีผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ
6. ผู้ติดเชื้อ 2 รายสุดท้าย เป็นชายและหญิง สัญชาติเมียนมา (รหัส CM 4274 และ 4275) ได้ทำการลักลอบเข้าเมืองทางพรมแดนธรรมชาติบริเวณ อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา แล้วนั่งรถต่อมายัง อ.อมก๋อย รวมทั้งหมด 11 คน วันที่ 3 กรกฎาคมเดินทางไป ต.ยางเปียง ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อมก๋อย และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขดำเนินการเก็บตัวอย่างส่งตรวจ วันที่ 4 กรกฎาคม ผลพบเชื้อ 2 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง คือ เพื่อนร่วมทาง 9 ราย ผลเป็นลบ ต้องกักตัว 14 วัน และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนอีก 3 ราย รอตรวจ ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ คือ ตำรวจ 5 ราย และบุคลากรสาธารณสุข 2 ราย ให้เฝ้าสังเกตอาการตนเอง
สำหรับการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ในกลุ่มเสี่ยงสูง หรือผู้สัมผัส เมื่อวานนี้ (3 ก.ค. 64) มีการตรวจทั้งหมด 704 ราย พบติดเชื้อ 7 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.99 ส่วนปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อ ช่วงนี้จะพบผู้ที่สัมผัสเชื้อจากต่างจังหวัดแล้วเดินทางเข้ามาจังหวัดเชียงใหม่ทุกวัน ผู้ป่วยรายใหม่วันนี้ 5 ใน 7 รายก็เป็นการสัมผัสโรคจากต่างจังหวัดแล้วเดินทางกลับมาตรวจพบว่าติดเชื้อในจังหวัด มาจากกรุงเทพฯ 3 ราย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก 2 ราย และอีก 2 รายเป็นผู้สัมผัสในชุมชน และครอบครัว
ขณะที่ผู้เดินทางเข้ามาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด และได้ดำเนินการลงทะเบียน CM Chana สะสม 23,476 ราย ติดตามตัวได้ 19,359 ราย คิดเป็นร้อยละ 82.46 โดยอำเภอเมืองเชียงใหม่ยังคงติดตามตัวได้น้อยที่สุดเพียงร้อยละ 70.03 ส่วนผู้ที่ไม่ลงทะเบียน CM Chana ที่ทีมโควิดหมู่บ้านติดตามได้เพิ่มมากขึ้นถึง 117 ราย พบผู้กระทำผิดนี้มากในอำเภอแม่แตง ฝาง สันทราย ดอยสะเก็ด และแม่อาย แสดงว่ายังมีผู้ที่ทีมโควิดหมู่บ้านยังหาตัวไม่พบอีกจำนวนมาก ดังนั้น ขอให้เจ้าบ้าน ผู้ให้ที่พักอาศัย โรงแรม คอนโดฯ หอพักต่างๆ ต้องแจ้งผู้ที่เข้าพักให้ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่และขอความร่วมมือทุกท่านแจ้งเบาะแสให้เจ้าพนักงานในพื้นที่ทันที หากไม่ปฏิบัติจะถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย
สำหรับกรณีมีผู้โพสต์ข้อความใน Facebook ส่วนตัว ที่ว่าโรงพยาบาลสนามเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาพยาบาลนั้น ขอชี้แจ้งให้ทราบว่าไม่เป็นความจริง เกิดจากความเข้าใจผิดกัน เนื่องจากรัฐบาลประกาศชัดเจนแล้วว่าการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทย รักษาฟรี โดยไม่มีการเก็บจากผู้ป่วยที่มารักษา แต่หน่วยงานจะต้องทำเรื่องเบิกเงินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยใช้หลักฐานตามสิทธิของผู้รับการรักษา และใช้เลขบัตรประชาชน 13 หลักของคนไทยเป็นเกณฑ์ ทั้งนี้
1. ผู้มีสิทธิประกันสุขภาพทั่วหน้า (บัตรทอง) ไม่ต้องมีเอกสารอะไรเพิ่มเติม โรงพยาบาลเบิกจาก สปสช. ได้เลย
2. ผู้มีสิทธิเบิกจ่ายตรง คือ ข้าราชการทุกหน่วยงาน สปสช.จะส่งเบิกไปยังกรมบัญชีกลาง
3. ผู้มีสิทธิประกันสังคม สปสช.จะส่งเบิกไปยังกองทุนประกันสังคม
4. ผู้ทำงานรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานที่คล้ายรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้ทำจ่ายตรงไว้เหมือนข้าราชการ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปา ธนาคารบางแห่ง จะต้องทำหนังสือรับรองสิทธิเพื่อเรียกเบิกจากหน่วยงานต้นสังกัด
5. บุคคลต่างชาติ จะทำการเรียกเก็บจากเงินประกันสุขภาพของบุคคลต่างชาติ ส่วนต่างด้าวที่ไม่มีหลักประกันใดๆ สปสช.จะทำการเรียกเก็บจากกรมควบคุมโรค
สำหรับผู้ที่ทำการโพสต์รายนี้เป็นผู้มีสิทธิรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานธนาคาร ทางโรงพยาบาลเบิกค่าใช้จ่ายการรักษาไม่ได้ เนื่องจากไม่มีเอกสารรับรองสิทธิ ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสันทราย ซึ่งเป็นผู้จัดการการเบิกค่าใช้จ่ายทั้งหมด จึงได้โทรศัพท์ไปหาเพื่อขอเอกสารการรับรองสิทธิการรักษาจากหน่วยงานต้นสังกัดเพิ่มเติมเพื่อนำมาประกอบการเบิกจ่ายของโรงพยาบาล จึงเกิดความเข้าใจผิดว่าโรงพยาบาลเรียกเก็บเงิน ดังนั้น หากท่านมีข้อสงสัยเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโรงพยาบาลสนามให้ติดต่อสอบถามที่งานประกันสุขภาพ โรงพยาบาลสันทราย หมายเลขโทรศัพท์ 0-5392-1199 ต่อ 197 ในเวลาราชการ