xs
xsm
sm
md
lg

เยือนบ้านบ่อน้ำเมืองอุดรฯ ชมฝีมือแทงหยวกทำปราสาทผึ้ง งานช่างโบราณที่รอคนรุ่นใหม่สืบทอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุดรธานี - แวะเยือนบ้านบ่อน้ำ ต.หนองสำโรง เมืองอุดรฯ ชมฝีมือการแทงหยวกเพื่อสร้างปราสาทผึ้งใช้ในพิธีกรรมทั้งงานมงคล และงานไม่มงคล เผยเป็นงานศิลปะโบราณที่กำลังจะสูญหาย ส่วนใหญ่มีแต่คนเฒ่าคนแก่เท่านั้นที่ทำเป็น อย่างไรก็ตามช่างแทงหยวกในหมู่บ้านนี้พร้อมส่งต่อองค์ความรู้การแทงหยวกทำปราสาทผึ้งให้ลูกหลานคนรุ่นใหม่สืบทอดและอนุรักษ์


ในยุค 4.0 หรือ 5.0 การ “แทงหยวก” ยังคงเป็นอีกหนึ่งงานฝีมือและศิลปะที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมสำคัญของคนแถบสุวรรณภูมิ ส่วนใหญ่จะเห็นในพิธีกรรมงานบุญสำคัญๆ ทั้งงานมงคลและงานไม่เป็นมงคล ไม่ว่าจะเป็นงานแห่เทียน งานบวช งานบุญ และงานศพ งานฝีมือนี้จะแทงหยวกกล้วยให้มีลวดลายต่างๆ และประกอบติดกับโครงสร้างไม้ไผ่เป็นปราสาทและติดดอกผึ้ง ประดับตกแต่งให้สวยงามแล้วนำไปแห่ หรือเอาไปทำพิธีเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษและถวายเป็นพุทธบูชา

ปัจจุบัน ที่หมู่บ้านบ่อน้ำ ต.หนองสำโรง อ.เมือง จ.อุดรธานี ยังคงมีชาวบ้านรับจ้างแทงหยวกเพื่อใช้ในงานพิธีต่างๆ แต่กลุ่มคนที่แทงหยวกเป็นและอนุรักษ์งานฝีมือโบราณนี้ดูเหมือนจะมีแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งพวกเขาบอกว่าพร้อมส่งต่อภูมิปัญญาการแทงหยวกให้คนรุ่นใหม่ได้สืบทอด


นายอุดร จำปาหอม อายุ 76 ปี หนึ่งในช่างแทงหยวกแห่งบ้านบ่อน้ำ บอกว่า การทำปราสาทผึ้งนั้นไม่ได้ยากสักเท่าไหร่ วัสดุหลักที่นำมาทำก็เอามาจากธรรมชาติทั้งนั้น เช่น ไม้ไผ่ และต้นกล้วยตานี การทำเริ่มจากทำฐานให้คล้ายคานหาม ปัจจุบันประยุกต์เอาวัสดุเหลือใช้คือ กล่องโฟมมาทำฐานด้วย ต่อด้วยการตั้งเสา 4 มุม ใส่ขื่อ 4 ตัว ยึดให้แน่นด้วยเส้นลวดให้แข็งแรง

“การทำนั้นไม่ยากแต่จะเสียเวลาตอนประกอบ การแทงหยวกเป็นลวดลายต่างๆ และตกแต่งให้สวยงาม ซึ่งการประดับตกแต่งจะตกแต่งด้วยกาบกล้วย หยวกกล้วย ดอกไม้ และขี้ผึ้ง เอกลักษณ์ของปราสาทจะสวยงามมากน้อยแค่ไหนขึ้นกับลวดลายการแทงหยวกนี่แหละ” คุณตาอุดร กล่าวและอธิบายต่อว่า




ลวดลายที่นำมาใช้ตกแต่งประสาทผึ้งมี 4 แบบ คือ ลายเขี้ยวหมา ลายตีนเต่า ลายฟันสาม และลายนกน้อย รวมระยะเวลาในการทำแต่ละหลังประมาณ 8-10 ชั่วโมง ทั้งนี้ ตามความเชื่อซึ่งสืบทอดต่อกันมา “ปราสาทผึ้ง” คนเราจะนำไปร่วมในพิธีกรรมงานบุญสำคัญๆ ทั้งงานมงคลและงานไม่เป็นมงคล

ส่วนใหญ่ที่ทำเขาจะเอาไปทำพิธีเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ โดยมีความเชื่อว่าปราสาทผึ้งนี้จะเป็นที่สถิตให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

“จะว่าไปแล้วทักษะความรู้การแทงหยวกทำปราสาทผึ้งนั้น สมัยก่อนตอนเป็นหนุ่ม ตาไม่มีอะไรทำ มักจะไปนั่งดูผู้ใหญ่เขาทำ ก็คอยช่วยเป็นลูกมือหยิบโน่นจับนี่ให้เพิ่น ทำไปทำมาก็ทำเป็น การนั่งดูหากนั่งดูตรงข้ามจะทำไม่เป็น ให้นั่งข้างๆ แล้วสังเกตวิธีทำจนทำเป็น ทำมาแล้วนานกว่า 40 ปี เคยมีคนมาขอเรียนขอความรู้แต่ก็ไม่เคยได้สอนใคร” คุณตาอุดรบอก


ด้านนายธนากร จำปาหอม อายุ 41 ปี ลูกชายคุณตาอุดร เปิดเผยว่า การสืบทอดวิชาการทำประสาทและแทงหยวกจากพ่อนั้น ถือว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ดี มันหาคนที่ทำแบบนี้ได้ยาก หากเป็นคนยุคใหม่แล้วน้อยมากที่จะเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ อย่างน้อยอนาคตอาจจะเป็นอาชีพเสริม และได้สืบสานวัฒนธรรมประเพณีโบราณ ถือว่ามีความภูมิใจที่ได้วิชานี้จากพ่อ

การทำถือว่ายากนิดหนึ่งแต่เราใช้ความพยายาม การทำปราสาทนั้นไม่ยากแต่จะยากตรงการควบคุมให้ลวดทั้งหมดมีความสมดุลกันโดยไม่ต้องใช้แบบ จุดนี้ถือว่ายากที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น