เชียงใหม่ - ศูนย์วัคซีนโควิด-19 เชียงใหม่เผยได้รับจัดสรร “แอสตร้าเซนเนก้า” ส่งถึงพื้นที่ศุกร์นี้ เตรียมพร้อมระดมฉีดให้กลุ่มตกค้างและผู้ได้คิวสัปดาห์หน้า ขณะเดียวกันแจงกรณีคนร้องใบรับรองฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มระบุคนละยี่ห้อ ตรวจสอบแล้วเป็นลงบันทึกข้อมูลคลาดเคลื่อน
วันนี้ (16 มิ.ย. 64) ที่ศูนย์บัญชาการบริหารการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์ วรัญญู จำนงประสาทพร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว และจะทยอยส่งให้จังหวัดต่างๆ โดยคาดว่าจังหวัดเชียงใหม่จะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในวันศุกร์นี้ และจะได้นำมาจัดสรรการฉีดในกลุ่มผู้ตกค้างจากสัปดาห์นี้ รวมถึงผู้มีคิวในระบบหมอพร้อมสัปดาห์หน้า และกลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ ปริมาณวัคซีนอาจไม่เพียงพอที่จะฉีดให้ผู้ที่จองคิวทั้งหมด แต่จะได้มีการจัดสรรในสัปดาห์ต่อๆ ไป ส่วนวัคซีนซิโนแวค คาดว่าจะมีเพียงพอที่จะจัดสรรให้กลุ่มอื่นๆ ทั้งผู้จองคิวในเว็บไซต์ “ก๋ำแปงเวียง” กลุ่มองค์กรภาครัฐ-ภาคเอกชน และชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่
สำหรับการจองคิวผ่านเว็บไซต์ “ก๋ำแปงเวียง” นั้นเป็นช่องทางสำหรับผู้ที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น ทั้งนี้ผู้ที่ได้ลงทะเบียนในระบบหมอพร้อมมาก่อนหน้านี้ไม่ต้องทำการลงทะเบียนซ้ำอีก ส่วนผู้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่แต่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนของจังหวัด สามารถลงทะเบียนได้ที่หน่วยฉีดวัคซีน โดยจะมีเจ้าหน้าที่ดำเนินการลงทะเบียนให้ ขณะที่กลุ่มเป้าหมายในการฉีดวัคซีนของจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเฉลี่ยค่า 70% พบว่าจะต้องมีประชาชนได้รับการฉีดวัคซีน 1,200,000 คน โดยขณะนี้มีผู้ประสงค์ฉีดประมาณ 800,000 คน และตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 100,000 คน คิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งหมด
ขณะเดียวกัน นายแพทย์ วรัญญูชี้แจงกรณีที่มีผู้แจ้งเรื่องการฉีดวัคซีนต่างชนิดกัน ระหว่างเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 จากโรงพยาบาลนครพิงค์ ว่า ทางโรงพยาบาลนครพิงค์ได้ตรวจสอบ serial number แล้วพบว่าวัคซีนที่ได้รับเป็นวัคซีนซิโนแวค ชนิดเดียวกันถูกต้องทั้ง 2 เข็ม แต่ได้เกิดความคลาดเคลื่อนในขั้นตอนการลงบันทึกข้อมูลชนิดวัคซีนในฐานข้อมูล ทำให้ข้อมูลในใบรับรองมีความคลาดเคลื่อน ซึ่งโรงพยาบาลนครพิงค์ขอยืนยันในความถูกต้องของชนิดวัคซีนที่ฉีด พร้อมขออภัยในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจนก่อให้เกิดความสับสน โดยทางโรงพยาบาลได้ปรับขั้นตอนการลงข้อมูลเป็นการสแกนบาร์โค้ดแทนการคีย์ข้อมูล พร้อมเพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบใบรับรอง โดยการแนบกล่องวัคซีนให้ผู้รับบริการเพื่อใช้ตรวจสอบ serial number ก่อนออกใบรับรองเพื่อลดความคลาดเคลื่อนต่อไป