ลำปาง - เคยทำกันเองพอเจอโควิดระบาดไปต่อไม่ได้..คนแม่ทะรวมกลุ่มลงขันหุ้นละ 100 บาท / Dr.Plants หมอพืช-พันไมล์ ร่วมให้คำปรึกษาปลูก-เปิดตัว “แปลงผักคนอินทรีย์” หวังสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยสร้างรายได้ให้คนในชุมชนฝ่าวิกฤต
ช่วงเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้นทุกวัน..เกษตรกรสมาชิกกลุ่มพัฒนาชุมชนคนอินทรีย์แม่ทะ ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 198 ม.8 ต.บ้านกิ่ว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง จะทยอยเดินลงแปลงเก็บผักสลัดทั้ง เรดโอ๊ก กรีนโอ๊ก ฟินเลย์ไอซ์เบิร์ก สลัดคอส บัตเตอร์เฮด ที่พร้อมตัดออกจำหน่ายให้แก่ลูกค้า ซึ่งล้วนเป็นผักสีสด อวบ แข็งแรง กรอบ อร่อย และไร้สารเคมี เพราะปลูกแบบอินทรีย์ทั้งหมด
ลุงสมเชรษฐ์ อุดมวงศ์ เจ้าของสถานที่แปลงปลูกผักอินทรีย์ของกลุ่มพัฒนาชุมชนฯ บอกว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นของพ่อแม่ที่มีอยู่ก่อนแล้ว และที่ผ่านมาก็ให้ชาวบ้านเข้ามาปลูกพืชทำการเกษตร แต่ไม่ค่อยได้ผล กระทั่งต้นปีที่ผ่านมาทุกคนเจอสถานการณ์โควิดระบาดหนัก จึงได้มาคุยกันในกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ว่าควรจะมาทำร่วมกันในพื้นที่เดียว
“เกษตรกรที่มารวมกลุ่มกันเพราะที่ผ่านมาต่างคนต่างทำพอเจอสถานการณ์โควิดจึงไปต่อไม่ได้ จึงต้องมารวมตัวกันและปรับวิธีกันใหม่จนมาลงตัวที่การปลูกผักอินทรีย์ และปลูกชนิดที่ตลาดต้องการ ราคาดี ขายได้ตลอดปี มีการจ้างงานในพื้นที่และทำให้เกษตรกรมีรายได้และยั่งยืน”
โดยครอบครัวตนเป็นผู้บุกเบิกปรับปรุงพื้นที่ และเกษตรกรที่ต้องการเข้ามาทำร่วมก็ลงหุ้นกันมาหุ้นละ 100 บาท ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกประมาณกว่า 80 คนแล้ว จากนั้นก็นำเงินที่ได้จากการลงทุนซื้อเมล็ดพันธุ์และอุปกรณ์ในการทำการเกษตร ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จาก Dr. Plants หมอพืช-พันไมล์ มาเป็นที่ปรึกษาแนะนำการปลูกพืชเศรษฐกิจ
เน้นปลูกผัก 5 ประเภทในเบื้องต้น คือ โรสแมรี สลัด 5 ชนิด เพราะเห็นว่ามีผู้นิยมรับประทานและช่องทางการตลาดยังมีอีกมาก สามารถขายได้ตลอดทั้งปี และยิ่งปลูกแบบปลอดสารก็ตอบโจทย์สำหรับผู้ที่รักสุขภาพทั้งในลำปางและทั่วประเทศได้ในอนาคต
“แปลงผักที่นี่อินทรีย์ 100% ซึ่งขณะนี้เพิ่งปลูกได้ประมาณเดือนเศษ ผักสลัด 5 ชนิดเริ่มทยอยเก็บรับประทานและจำหน่ายได้แล้ว ส่วนโรสแมรี ผักเชียงขมิ้นแดงสยามและอื่นๆ จะใช้เวลาอีกประมาณ 3-4 เดือนถึงจะเก็บผลผลิตได้”
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจ-ต้องการซื้อผักอินทรีย์สามารถสอบถามได้ที่ 08-9126-7289 และ 08-1628-0711 และในอนาคตสถานที่แห่งนี้จะมีการปลูกกัญชาและทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้เกษตรกรได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ต่อไป