xs
xsm
sm
md
lg

ถึงคิวชำแหละ! 600 ล้าน “ร้อยแก่นสารสินธุ์” สตง.สอบย้อนหลัง 2 ปี ผุด “ศูนย์กลางแปรรูปสินค้าเกษตร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ถึงคิวชำแหละ! อีสานกลาง “ร้อยแก่นสารสินธุ์” สตง.สอบย้อนหลัง 2 ปี งบกว่า 600 ล้าน แผนพัฒนาศักยภาพการเกษตร ผุด “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมแปรรูป” ไม่สอดคล้องการพัฒนา ยกเคส “โครงการข้าวครบวงจร” 2 บอร์ดจังหวัดใหญ่ อนุมัติโดยมิได้พิจารณา ให้สอดคล้อง-เชื่อมโยง กับกิจกรรม เฉพาะ 12 กิจกรรมพัฒนาแหล่งน้ำ งบกว่า 140 ล้าน มีเพียง 3 โครงการ วงเงิน 17 ล้าน ที่ได้ไปต่อ แถม “จัดหาน้ำบ่อบาดาล” ปัญหาเพียบ

วันนี้ (8 มิ.ย. 64) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง.ได้สรุปผลการตรวจสอบโครงการภายใต้การพัฒนาศักยภาพการผลิตการเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง

ประกอบด้วย ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และ ร้อยเอ็ด หรือ “ร้อยแก่นสารสินธุ์” มีขอนแก่น เป็นศูนย์กลาง เป็นการตรวจสอบ ตามกรอบในการดำเนินงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณตามแผนปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 วงเงิน 300,461,400.00 บาท

โดยเฉพาะ ใน พ.ศ. 2561-2564 ที่กำหนดเป้าหมาย “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร” เชื่อมโยงการบริการ การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์สู่อนุภูมิภาคลุ่มนํ้าโขง เพื่อยกระดับพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง

สตง. ตรวจสอบย้อนหลัง พบว่า จากการกำหนดตัวชี้วัดไม่ชัดเจน ทำให้ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 วงเงิน 300,461,400 บาท กับ ปีงบประมาณ พ.ศ.2561 วงเงินงบประมาณ 284,199,100 บาท ที่แบ่งให้กับกิจกรรมชั้นต้นน้ำ : การพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพน้ำ และกิจกรรมชั้นกลางนํ้า : การแปรรูป สินค้าเกษตร

“การจัดทำแผนทั้ง 2 ปี วงเงิน 584 ล้านบาท ให้ความสำคัญกับกิจกรรมชั้นต้นน้ำมากที่สุด แต่กิจกรรมชั้นกลางน้ำ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ตอบสนองต่อเป้าหมาย การพัฒนาโดยตรง ได้รับความสำคัญน้อยที่สุด”

ในเรื่องตัวชี้วัด สตง.ยังพบว่า ตามแผนปฏิบัติราชการปี 62 มีกิจกรรมและตัวชี้วัดของโครงการไม่ตอบสนองต่อตัวชี้วัดของประเด็นการพัฒนา ทำให้การกำหนดกลุ่มเป้าหมายไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ และผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายโครงการ

จากตัวอย่าง โครงการพัฒนาคุณภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิตข้าวครบวงจร กิจกรรมส่งเสริมการผลิตข้าวสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ของ 2 จังหวัดในกลุ่ม แม้กิจกรรมจะมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิตข้าวอินทรีย์ครบวงจรตามระบบมาตรฐาน

“แต่จากการกำหนดตัวชี้วัดตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ คือ ร้อยละ 60 ของจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ แต่พบว่า ไม่สอดคล้องกับตัวชี้วัดของประเด็นการพัฒนา เนื่องจากมิได้ศึกษาและทำความเข้าใจการเสนอโครงการ ขณะที่คณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ ของกลุ่มจังหวัดนี้ อนุมัติโครงการโดยมิได้พิจารณาถึงความสอดคล้องและเชื่อมโยงตัวชี้วัดและกิจกรรมของโครงการ”

อีกด้าน กิจกรรมพัฒนาแหล่งน้ำการเกษตร ใน 12 กิจกรรม วงเงิน 140,396,278 บาท พบว่า สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เพียง 3 โครงการ วงเงิน 17,240,290.76 บาท ซึ่งเกิดจากปัญหาการบูรณาการของสำนักงานเกษตรจังหวัด

อย่างไรก็ตาม ยังพบว่า มีโครงการที่ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้ไป ได้แก่ "โครงการจัดหาน้ำจากบ่อบาดาล" ในหลายพื้นที่ ทั้งการจ้างเหมาชุดบ่อบาดาล จัดหา เครื่องสูบน้ำแบบมอเตอร์จุ่มใต้น้ำ อุปกรณ์ท่อพีวีซี และลังเก็บน้ำแบบไฟเบอร์กลาสทรงถ้วยความจุ 2,000 ลิตร

“ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำบ่อบาดาลให้ ข้อมูล สตง.ว่า ทางกลุ่มไม่มีเงินทุนติดตั้งไฟฟ้าเกษตรและหอลังเก็บน้ำ ประกอบกับในพื้นที่การเกษตรของสมาชิกมีสระน้าในไร่นาและมีบ่อบาดาลเจาะเอง จึงยังไม่ได้ดำเนินการ โดยสาเหตุเกิดจากหน่วยงาน ผู้รับผิดชอบโครงกา รมิได้สอบถามและชี้แจงรายละเอียดโครงการที่กำหนดเงื่อนไขให้เกษตรกรต้องรับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายเองบางส่วนก่อน”

ทำให้เกษตรกรเสียโอกาสจากการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำทำการเกษตร เพื่อเพิ่มผลผลิต จำหน่ายผลผลิตนอกฤดกาลเป็นรายได้เสริมในช่วงฤดแล้ง

ล่าสุด สตง. มีหนังสือถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้ากลุ่มจังหวัดนี้ ดำเนินการแก้ไขบ้างแล้ว.


กำลังโหลดความคิดเห็น