ภูมิภาค - องค์กรภาคประชาชนทั่วประเทศยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯ รัฐบาล และรัฐสภา ค้านร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน เพราะเห็นว่าเป็นกฎหมายที่ต้องการรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประเทศ
ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ในการประชุมเมื่อวันที่ 23 ก.พ.2564 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ โดยให้เพิ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้รักษาการตามร่างกฎหมายนี้ และให้ สคก. รับร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ... ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ รวมทั้งความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประกอบการยกร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไปนั้น
ขณะที่ภาคประชาชนและภาคประชาสังคม ซึ่งรวมกลุ่มทำกิจกรรมหรือทำโครงการพัฒนาชุมชนต่างๆ ในนามขององค์กร มูลนิธิ รวมทั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล ซึ่งทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในท้องถิ่นทั่วประเทศ และเข้าข่ายเป็นองค์กรที่ไม่แสงหาหารายได้หรือกำไรนำมาแบ่งปันกันตามร่างกฎหมายนี้ต่างมีความเห็นคัดค้าน เนื่องจากเห็นว่าร่างกฎหมายนี้ต้องการรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง โดยจงใจละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประเทศ อีกทั้งเป็นการขัดขวางการรวมกลุ่มรวมตัวขององค์กรสาธารณะประโยชน์ที่เป็นภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม
ล่าสุด วันนี้ (4 มิ.ย.) ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เครือข่ายองค์กรชุมชน เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล ในฐานะตัวแทนภาคประชาชนได้รวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรม พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งตัวแทนพรรคการเมือง เพื่อส่งหนังสือคัดค้านต่อไปยังรัฐบาล รัฐสภา และพรรคการเมือง ประมาณ 40 จังหวัด เช่น ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย (สภาองค์กรชุมชนตำบล 17 แห่ง) เชียงใหม่ พิษณุโลก สุโขทัย ตาก ภาคอีสาน จังหวัดขอนแก่น ภาคกลาง จังหวัดสุพรรณบุรี ตะวันออก จังหวัดจันทบุรี และภาคใต้ จังหวัดพัทลุง พังงา ตรัง
โดยมีสาระสำคัญคือ ขอให้รัฐบาลทบทวนการเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 23 ก.พ.2564 โดยอ้างความจำเป็นในการร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า เพื่อให้มีกฎหมายกลางในการกำกับการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศอย่างแท้จริง
ขณะที่ภาคประชาชนเห็นว่าสาระสำคัญของกฎหมายที่กำลังจะร่างนี้ขัดกับข้อเสนอของภาคประชาสังคมที่ได้มีการเสนอร่างกฎหมายส่งเสริมภาคประชาสังคม เพื่อส่งเสริมการทำงานของภาคประชาสังคมให้เกิดความเข้มแข็ง มีอิสระจากรัฐและทุน สามารถร่วมกันกำหนดอนาคตสังคม เกิดสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียม ความเป็นธรรมได้อย่างแท้จริง โดยมีความเห็นร่วมกันว่า
1.ร่างกฏหมายองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ บังคับให้การรวมตัวของทุกกลุ่มตามรัฐธรรมนูญจะต้องจดแจ้งการเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ กับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดในทางอาญา (ต้องระวางโทษสูงสุดไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
2.บังคับให้องค์กรที่เป็นนิติบุคคล (สมาคมหรือมูลนิธิ) และองค์กรที่จดทะเบียนตามกฎหมายอื่นนอกจากต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่องค์กรดังกล่าวจดทะเบียนแล้ว ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีมหาดไทยกำหนดอีกด้วย
3.บังคับให้องค์กรภาคสังคมต้องเปิดเผยแหล่งที่มาและจำนวนของเงินหรือทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมในแต่ละปี และต้องยื่นแบบรายการภาษีเงินได้ทุกปี
4.บังคับให้องค์กรภาคสังคมต้องเสนอรายงานการสอบบัญชี โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต่อผู้รับจดแจ้งภายใน 60 วัน นับแต่วันสิ้นปีบัญชี และให้ผู้รับจดแจ้งเผยแพร่ต่อสาธารณะ
5.บังคับให้องค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ที่รับเงินหรือทรัพย์สินจากบุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย หรือไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งในไทย มาใช้ในการดำเนินกิจกรรมในไทยได้เฉพาะกิจกรรมที่รัฐมนตรีกำหนดเท่านั้น
6.บังคับให้การดำเนินงานขององค์กรต้องไม่ขัดกับระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้กำหนดหรือชี้เป็นชี้ตายได้ และหากขัดกับคำสั่งดังกล่าวสามารถยกเลิกหรือยุติการดำเนินงานขององค์กรนั้นได้
นายเอกนัฐ บุญยัง ประธานคณะกรรมการดำเนินการตามมติที่ประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชน กล่าวว่า จากข้อกำหนดเหล่านี้เห็นได้ชัดถึงความพยายามสร้างเงื่อนไข และข้อบังคับที่ต้องการรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง โดยจงใจละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประเทศ อีกทั้งเป็นการขัดขวางการรวมกลุ่มรวมตัวขององค์กรสาธารณประโยชน์ที่เป็นภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคมทุกรูปแบบ ทั้งที่ความจริงแล้ว
1.รัฐมีช่องทางของกฎหมายเฉพาะที่รับจดแจ้งองค์กรสาธารณประโยชน์ หรือองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรเหล่านี้อยู่แล้ว เช่น การขึ้นทะเบียนสมาคมฯ มูลนิธิ หรืองค์กรที่จดแจ้งตามกฎหมายอื่นๆ เพื่อทำหน้าที่ควบคุม หรือกำกับการดำเนินงานขององค์กรต่างๆ อยู่แล้ว อีกทั้งหากองค์กรใดดำเนินกิจกรรมที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายก็มีกฎหมายสามารถเอาผิดได้อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายที่มีเนื้อหาเป็นการ “ควบคุม” หรือ “คุกคาม” การรวมกลุ่มรวมตัวของประชาชน จึงเป็นการออกกฎหมายเกินความจำเป็นและไม่สมเหตุผล
2.ร่างกฎหมายฉบับนี้ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เพราะไม่ได้มีขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นประชาชน และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ
3.ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมองค์กรสาธารณประโยชน์หรือองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ ทั้งการรวมตัวจัดตั้งองค์กร การดำเนินกิจกรรม การหารายได้และการใช้จ่าย การยุติกิจกรรมหรือยกเลิกองค์กร และการเอาผิดทางอาญา จึงเป็นการขัดกับสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและการแสดงออกของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
4.รัฐบาลมีเจตนาปิดกั้นและไม่ส่งเสริมการรวมกลุ่ม รวมตัวของภาคประชาชน เนื่องจากในโอกาสเดียวกันนี้ ภาคประชาชนได้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมภาคประชาสังคม แต่รัฐบาลกลับนำร่างกฎหมายการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันเสนอประกบเข้ามาด้วย ซึ่งมีลักษณะเนื้อหาที่ขัดแย้ง และจะทำให้สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับประชาชนตกไป
5.การเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวถือเป็นการปิดกั้น และลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง และไม่เคารพและเห็นถึงความสำคัญในการรวมกลุ่มรวมตัวของประชาชนเพื่อประโยชน์สาธารณะที่มีอยู่จำนวนมากในประเทศ อันเป็น “หุ้นส่วน” การพัฒนาที่จำเป็นต้องมีในสังคมไทย
นายเอกนัฐ กล่าวต่อไปว่า จากเหตุผลดังกล่าว เครือข่ายองค์กรชุมชน เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล ซึ่งเป็นองค์กรชาวบ้านที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนในระดับตำบลที่มีอยู่อย่างหลากหลาย เช่น กลุ่มวิสาหกิจ กลุ่มอาชีพต่างๆ กลุ่มสวัสดิการชุมชน กองทุนชุมชน กลุ่มท่องเที่ยวชุมชน กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ถือเป็นการรวมกลุ่มเพื่อประโยชน์สาธารณะ และไม่ได้แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน จึงมีความเห็นร่วมกันว่า
“ร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการไปเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 นั้น ไม่เป็นผลดีกับสังคมโดยรวม และจะเป็นการปิดกั้นการรวมกลุ่มของภาคประชาชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ อันถือเป็นบทบาทสำคัญของกระบวนการพัฒนาประเทศในทุกระดับ และทุกมิติ ซึ่งรัฐบาลควรจะส่งเสริมสนับสนุนมากกว่าการควบคุม ดังเหตุผลที่ได้กล่าวไว้แล้วเบื้องต้น พวกเราจึงขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วยความรอบคอบและมุ่งเน้นประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง เพื่อมุ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป” นายเอกนัฐ กล่าว