มหาสารคาม - ชาวบ้านโวย ปลัด อบต.หนองเรือ ประกาศยกเลิกประกวดราคาแบบอิเล็กทรอนิกส์
(อีบริดดิ้ง) และไม่มีการจัดหาผู้ประกอบการมารับงาน ชาวบ้านหวั่นงบที่ได้รับอุดหนุนมาจะถูกดึงกลับ และจะไม่มีงบประมาณมาพัฒนาหมู่บ้าน วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้บริหารท้องถิ่น
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บริเวณถนนทางหลวงหมายเลข 2381 เส้นทางระหว่างบ้านหัวเข่าแตก-บ้านนางเลิ้ง หมู่ 10 ต.หนองเรือ อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม ระยะทาง 1,728 เมตร ภายหลังชาวบ้านร้องเรียนกรณีผู้บริหารท้องถิ่น ประกาศยกเลิกการประกวดราคาแบบอิเล็กทรอนิกส์ (อีบริดดิ้ง) และไม่มีการจัดหาผู้ประกอบการมารับงาน ชาวบ้านเกรงว่างบประมาณที่ได้รับอุดหนุนมาจะถูกดึงกลับ และจะไม่มีงบประมาณมาพัฒนาหมู่บ้านอีกต่อไป วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้บริหารท้องถิ่น ว่าเหตุใดถึงไม่ดำเนินการ หรือมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตหรือไม่
นายประดิษฐ์ แก้ววันนา กำนันตำบลหนองเรือ อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า อบต.หนองเรือ ได้รับเงินอุดหนุนเฉพาะกิจที่จะได้รับการจัดสรรตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบประมาณอุดหนุนที่จัดสรรให้แก่เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
โดยมีแผนดำเนินการโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กจำนวน 5 เส้นทาง ได้รับงบประมาณเงินอุดหนุนเป็นเงิน 22,432,000 บาท
ต่อมา อบต.หนองเรือ ได้ประกาศหาผู้ประกอบการโดยวิธีประกวดราคาแบบอิเล็กทรอนิกส์ (อีบริดดิ้ง) โดยมีผู้ประกอบการยื่นเสนอราคาวันที่ 24 มีนาคม 2564 แต่ไม่มีผู้ประกอบการที่ผ่านคุณสมบัติ ทาง อบต.หนองเรือ จึงได้ยกเลิกประกาศเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2564 ซึ่งไม่ได้แจ้งผู้ประกอบการที่ร่วมเสนอราคาทุกราย เป็นลายลักษณ์อักษรว่าขาดคุณสมบัติอย่างไร
โดยชาวบ้านเห็นว่า หากปล่อยเวลาผ่านไป ซึ่งเหลืออีกเพียงไม่กี่เดือนก็จะสิ้นปีงบประมาณ หากไม่ดำเนินการหาผู้ประกอบการมาก่อสร้างถนน ตามที่ได้รับงบอุดหนุนเฉพาะกิจมา งบประมาณก็จะถูกดึงกลับ ก่อให้เกิดความเสียหาย ชาวบ้านเสียโอกาสในการพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ ในหมู่บ้าน และเกรงว่าจะไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ลงมาอุดหนุนอีก เพราะผู้บริหารไร้ประสิทธิภาพ
นายมังกร หานะพันธ์ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองเรือ กล่าวว่า เคยร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก่อนที่ท้องถิ่นจังหวัด คลังจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมหาสารคาม ได้ลงพื้นที่ พร้อมให้แนะนำระเบียบกฎหมายในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐตามระเบียบพัสดุ พ.ศ. 2560 โดยให้ใช้วิธีอิเล็กทรอนิกส์ (อีบริดดิ้ง) แต่ผู้บริหาร คือ นางอนัญญา โชคอนันต์กูล ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหนองเรือ ปฏิบัติหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองเรือ ได้สั่งการให้พนักงานที่เกี่ยวข้องเลือกใช้วิธีคัดเลือก
ต่อมาก็ได้มีการยกเลิกประกาศวิธีคัดเลือก เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 โดยต่อไปจะใช้วิธีเจาะจง ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้ชาวบ้านเสียประโยชน์กับงบประมาณที่จะได้รับและมีความล่าช้าในการบริหารสัญญา จึงอย่างให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมากำกับดูแล เพื่อให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์จากงบประมาณนี้ให้ได้มากที่สุด
ด้าน นายเฉลิม จันทะเขต ชาวบ้านอีเลิ้ง หมู่ 10 ต.หนองเรือ อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม กล่าวว่า ชาวบ้านรอคอยความหวังกับถนนเส้นใหม่มานานหลายสิบปี ตอนนี้เป็นถนนหินคลุก หากได้ถนน คสล. มา ก็จะทำให้การสัญจร การเดินทางสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งชาวบ้านจะได้ประโยชน์ตรงนี้ แต่หากไม่ดำเนินการเร่งจัดหาผู้ประกอบการมาทำสัญญาจ้าง ก็อาจทำให้งบประมาณที่ได้รับอุดหนุนมา ถูกดึงกลับ ชาวบ้านหมดโอกาสที่จะได้ใช้ถนนใหม่ ซึ่งผู้บริหารควรที่จะรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านบ้าง
ซึ่งหากงบประมาณถูกดึงกลับ หรือการดำเนินการล่าช้า ชาวบ้านจะได้รวมตัวกันไปร้องศูนย์ดำรงธรรม เพื่อขอให้ย้ายผู้บริหารออกนอกพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินงานต่างๆ ท้องถิ่นมีความราบรื่นมากยิ่งขึ้น