xs
xsm
sm
md
lg

นักเรียนเมทนีดลสุดล้ำ ผลิตหุ่นดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ต้นทุนต่ำแค่ตัวละ 30,000 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวขอนแก่น - นักเรียนเมทนีดลสุดเจ๋ง ประดิษฐ์หุ่น “โรบอทใบหม่อน” ตัวที่ 2 มอบให้โรงพยาบาลชุมแพ ใช้จัดส่งเวชภัณฑ์ ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เลี่ยงสัมผัสระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรแพทย์ ทั้งสามารถฉายรังสี UVC ฆ่าเชื้อโควิด-19 ควบคุมด้วยรีโมตระยะไกล ต้นทุนผลิตแค่ตัวละ 30,000 บาท

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงเรียนเมทนีดลจังหวัดขอนแก่น อ.เมือง จ.ขอนแก่น ดร.อรทัย สันติเมทนีดล ผู้อำนวยการโรงเรียนเมทนีดลจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานมอบ “โรบอทใบหม่อน” หุ่นยนต์เคลื่อนที่ส่งของพร้อมปราบโควิด-19 ด้วยรังสี UVC ให้แก่ แพทย์หญิง ดวงพร อัศวราชันย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมแพ โดยมีคณะครูชาวไทยและชาวต่างชาติ พร้อมด้วยนักเรียนโรงเรียนเมทนีดลร่วมในกิจกรรมดังกล่าว


สำหรับหุ่นโรบอทใบหม่อนดังกล่าวเป็นผลงานสร้างสรรค์ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาของโรงเรียนเมทนีดล ที่สร้างหุ่นยนต์บังคับด้วยรีโมตสำหรับใช้งานด้านการแพทย์ ส่งเวชภัณฑ์และจัดการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ลดการสัมผัสระหว่างบุคลากรการแพทย์กับผู้ป่วย ซึ่งหุ่นยนต์ดังกล่าวมีความพิเศษสามารถเคลื่อนไหวได้เสถียร 360 องศา ทั้งสามารถฉายรังสี UVC Sterilizer ลดการแพร่กระจายเชื้อด้วย UVC light disinfection robot ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรค เชื้อจุลชีพ แบคทีเรียในห้องปฏิบัติการ และไวรัสโควิด-19

แพทย์หญิง ดวงพร อัศวราชันย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า หุ่นยนต์ที่ได้รับมอบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของโรงพยาบาลอย่างมาก โดย รพ.ชุมแพรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แล้วทั้งสิ้น 23 ราย บางส่วนหายขาดจากโรคและบางส่วนอาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหุ่นยนต์ที่ได้รับมอบถือเป็นมิติใหม่ในการทำงาน โดยเฉพาะช่วยเรื่องการทำความสะอาดห้องผู้ป่วย หรือห้องปฏิบัติการต่างๆ ด้วยระบบรังสี UVC รวมทั้งการรับ-ส่งสิ่งของ เวชภัณฑ์ยา หรือติดต่อผู้ป่วยกับทีมแพทย์ จะสามารถดำเนินการได้อย่างสะดวก คล่องตัว และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จากผลงานของนักเรียนในครั้งนี้

ขณะที่ ดร.อรทัย สันติเมทนีดล ผู้อำนวยการโรงเรียนเมทนีดล เปิดเผยว่า โรงเรียนเมทนีดลมีวิสัยทัศน์ชัดเจนมุ่งสร้างนักเรียนที่ดี เก่งทั้งคนและงาน นำวิชา AI : Artificial Intelligence หรือวิชาปัญญาประดิษฐ์ และวิชา Health and Medical Education หรือสุขอาชีวะอนามัยศึกษาและการแพทย์ เบื้องต้นเข้าสู่กระบวนการจัดการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษา ให้นักเรียนได้แสดงศักยภาพและสร้างสรรค์ผลงานร่วมกับความรู้ในศาสตร์อื่นๆ หรือช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต ต่อยอดสู่สังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัส-19 นี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้นักเรียนได้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้อย่างตั้งใจขึ้นอีกครั้ง

โรงเรียนเมทนีดลได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจาก อาจารย์คเณศ ถุงออด ประธานหลักสูตรภาควิชาเมคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ผศ.ดร.เกสร วงศ์เกษม อาจารย์ประจำภาควิชาเมคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสารคาม มาถ่ายทอดสอนการสร้างหุ่นยนต์แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ในวิชา AI : ปัญญาประดิษฐ์ และโรงเรียนเมทนีดลพร้อมแบ่งปันน้ำใจแด่คุณหมอและบุคลากรการแพทย์ต้องปลอดภัย

ดร.อรทัยกล่าวต่อว่า น้องใบหม่อน เป็นหุ่นยนต์ตัวที่ 2 ที่นักเรียนได้คิดค้นและประดิษฐ์ขึ้น มีความสูง 165 เซนติเมตร (ซม.) กว้าง 40 ซม. โดยด้านบนส่วนหัวจะเป็นที่ตั้งของกล้องและระบบรับสัญญาณบริเวณลำตัวติดตั้งหลอดรังสี UVC ที่มีคุณสมบัติพิเศษฆ่าเชื้อโรคได้ในรัศมี 5-7 เมตร ขณะที่ช่วงล่างก่อนถึงฐานล้อติดตั้งกล่องใส่สิ่งของ สามารถรับน้ำหนักได้ไม่เกิน 3 กิโลกรัม ใช้พลังงานแบตเตอรี่รองรับไฟบ้านทั่วไป ใช้เวลาชาร์จ 2 ชั่วโมง สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องถึง 6 ชั่วโมง รับ-ส่งสัญญาณผ่านระบบไวไฟที่สามารถส่งสัญญาณได้ถึงกันระยะทางกว่า 300 เมตร

แพทย์หญิง ดวงพร  อัศวราชันย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น รับมอบหุ่นโรบอทใบหม่อน ไปใช้ในการจัดส่งเวชภัณฑ์ สิ่งของ ดูแลผู้ป่วยโควิด-19


เมื่อได้รูปแบบแล้วจึงวางแผนจัดหาอุปกรณ์ส่วนต่างๆ เข้าสู่ขั้นตอนของการประดิษฐ์ตามคำแนะนำของคณาจารย์ โดยนักเรียนใช้เวลาเพียง 2 วันก็สามารถจะประดิษฐ์หุ่นยนต์ตัวนี้ได้สำเร็จ อย่างไรก็ดี สำหรับหุ่นยนต์อัจฉริยะตัวแรกที่ประดิษฐ์ขึ้นนั้นได้ส่งมอบแก่โรงพยาบาลภูเวียง ล่าสุดตัวที่ 2 ได้ส่งมอบแก่โรงพยาบาลชุมแพ โดยได้สาธิตและสอนการใช้งานให้แก่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรียบร้อยแล้ว และทางโรงเรียนยินดีจะดูแลรักษาและซ่อมบำรุงหุ่นยนต์ทั้ง 2 ตัวให้ตลอดระยะเวลาของการใช้งานที่โรงพยาบาลอีกด้วย

ด้าน ด.ช.ณัฎฐ์ นาคบรรพต จิตร์โต นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนเมทนีดล จ.ขอนแก่น กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าหุ่นยนต์ที่ใช้ด้านการแพทย์ ที่นำไปใช้งานเป็นผู้ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์นั้นมีราคาสูงถึงตัวละ 5 ล้านบาท เป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียนขอเป็นส่วนหนึ่งในการนำความรู้ ความสามารถ นำเอาแนวความคิดมาประสานกับเทคนิคทางวิชาการวิทยาศาสตร์ จนกลายเป็นหุ่นยนต์น้องใบหม่อน ในราคาต้นทุนต่ำแค่ตัวละ 30,000 บาทเท่านั้น โดยเพื่อนร่วมชั้นเรียนทุกคนใช้เวลาประดิษฐ์เพียงแค่ 2 วัน


จุดเด่นของหุ่นยนต์น้องใบหม่อนสามารถหมุนได้ 360 องศา มีความกว้างพอดี สามารถเข้าไปในสถานที่ต่างๆ ได้แทบทั้งหมด รัศมีการฉายรังสียูวีซีได้กว้างและไกลถึง 5-7 เมตร สามารถทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรค เชื้อจุลชีพ แบคทีเรียในห้องพักผู้ป่วย หรือห้องปฏิบัติการได้ครบถ้วน ทั้งสามารถใช้รับส่งของ ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยด้วยการติดตั้งกล่องด้านล่างช่วงฐานล้อ และบริเวณตัวหุ่นยนต์ติดตั้งชั้นสำหรับใส่สิ่งของ หรือยา หรือแฟ้มผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิดที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น