xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าคณะตำบล-สำนักพุทธฯ แจงยิบ! ที่มาประกาศ “ครูบา 100 ปี” พ้นสมณเพศ-เร่งตรวจทรัพย์สินวัดต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลำปาง - เจ้าคณะตำบลแม่ทะ-สำนักพุทธฯ ลำปางเข้าชี้แจงทำความเข้าใจศรัทธาวัดฟ้าหลั่ง หลังออกประกาศ “ครูบา 100 ปี” พ้นสมณเพศ พร้อมให้ตรวจสอบทรัพย์สิน และเตรียมแต่งตั้งรักษาการเจ้าอาวาสภายใน 15 วัน


ตลอดช่วงเช้าวันนี้ (1 มิ.ย. 64) พระครูวิธานพัฒนสุนทร เจ้าคณะตำบลแม่ทะ พร้อมด้วย พระมหาวัชรวีร์ วชิรเมธี เลขานุการเจ้าคณะอำเภอแม่ทะ พระครูอุปถัมภ์ นพกิจ เจ้าอาวาสวัดบ้านจว้าก พระครูโสพิศ วชิระคุณ พระวิญญาธิการ อ.แม่ทะ นายจำเริญ ศรีคำมูล ผอ.สนง.พระพุทธศาสนาจังหวัดลำปาง ปลัดอำเภอแม่ทะ ได้ร่วมทำความเข้าใจและชี้แจงกรณีประกาศให้ครูบาบุญเป็งพ้นสมณเพศและการดำเนินงานต่อจากนี้ โดยมีนายบุญยะเดช ธิธรรมมา ผญบ.แม่ทะ ม.1 และศรัทธาชาวบ้านในพื้นที่ประมาณ 20 คนเข้าร่วมรับฟังที่วัดห้วยฟ้าหลั่ง ม.1 บ้านแม่ทะ ต.แม่ทะ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง

พระมหาวัชรวีร์ วชิรเมธี เลขานุการเจ้าคณะอำเภอแม่ทะ กล่าวถึงความเป็นมาเป็นไปของการที่เจ้าคณะอำเภอแม่ทะออกประกาศให้ครูบาบุญเป็งพ้นสมณเพศเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า เนื่องจากช่วงเดือน พ.ย. 2563 เจ้าคณะอำเภอแม่ทะได้รับเรื่องร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมอำเภอแม่ทะ ขอให้ตรวจสอบอายุพรรษา-การบริหารจัดการวัดฟ้าหลั่ง

เนื่องจากก่อนหน้านั้นได้มีการประโคมข่าวขอเรี่ยไรเงินทองต่างๆ เพื่อนำมาก่อสร้างภายในวัดและภายนอก โดยใช้ชื่อหลวงพ่อบุญเป็งและวัดห้วยฟ้าหลั่ง ประกอบกับวัดห้วยฟ้าหลั่งไม่มีเจ้าอาวาส ไม่มีผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัด ทั้งๆ ที่วัดแห่งนี้หลวงพ่อบุญเป็งเป็นผู้ริเริ่มสร้างเมื่อปี 2558

กระทั่งได้รับการตั้งให้เป็นวัดโดยถูกต้องตามกฎหมายในช่วงเข้าพรรษา และขณะนั้นได้มีการแต่งตั้งหลวงพ่อบุญเป็งเป็นเจ้าอาวาสแล้ว รวมทั้งได้นำตราตั้งไปมอบในพระอุโบสถในวันเข้าพรรษา แต่หลวงพ่อบุญเป็งปฏิเสธว่าไม่รับตำแหน่งใดๆ จึงได้ทำหนังสือถึงเจ้าคณะจังหวัดในขณะนั้น จึงได้มีการปลดหลวงพ่อบุญเป็งออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสและแต่งตั้งรักษาการเจ้าอาวาส

ต่อมาก็มีการส่งหลานของหลวงพ่อบุญเป็งที่บวชอยู่ด้วยกันที่นี่เป็นรักษาการแทนจนเรียนจบและสึกออกไป จากนั้นก็ไม่มีรักษาการเจ้าอาวาสอีกเลยเหมือนกับว่าพระลูกวัดอยู่ด้วยกันเองมาตลอด จึงเป็นเหตุให้ผู้มีจิตศรัทธาที่นำเงินมาบริจาคเคลือบแคลงสงสัย ทำหนังสือร้องเรียนให้ตรวจสอบไปที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอแม่ทะ และก็ส่งมาให้เจ้าคณะผู้ปกครองที่หลวงพ่อฯ อาศัยอยู่ ก็คือเจ้าคณะอำเภอตรวจสอบ

ซึ่งก็ได้ตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ มีเจ้าคณะตำบลแม่ทะเป็นประธานฯ มีพระในพื้นที่เข้าร่วม และประสานไปยังสำนักงานพระพุทธศานาฯ และอำเภอแม่ทะ เข้าร่วมตรวจสอบด้วย แต่หลังจากที่ตรวจสอบไปได้ระยะหนึ่ง ซึ่งหลวงพ่อก็ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ก็ได้มีการรายงานให้ส่วนที่เกี่ยวข้องทราบเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วในการตรวจสอบรอบแรก

แต่ด้วยระหว่างการตรวจสอบมีอุปสรรคขัดขวางเพราะมีผู้มีอิทธิพลบางคนหรือลูกศิษย์ลูกหาเข้ามายุ่งเกี่ยวทำให้การตรวจสอบต้องสืบในทางลับ รวมถึงผู้ร้องเรียนก็ทำหนังสือไปขอยกเลิก แต่ประเด็นนั้นก็ได้รับทราบไว้


อย่างไรก็ตาม ด้วยกรณีที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับการร้องเรียนอย่างเดียว แต่เกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของพระพุทธศาสนาด้วย ดังนั้นก็ต้องตรวจสอบให้เสร็จสิ้น โดยเฉพาะประเด็นที่จะต้องเคลียร์ให้บริสุทธิ์ก็คือ เรื่องใบสุทธิ เนื่องจากใบสุทธิของหลวงพ่อมีข้อไม่ถูกต้องหลายประการ จึงได้ส่งสำเนาใบสุทธิให้ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดลำปางประสานงานไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดแม่ฮ่องสอนตรวจสอบ เนื่องจากหนังสือสุทธิดังกล่าวออกโดยเจ้าคณะอำเภอปางมะผ้า

เมื่อเรื่องไปถึงตามกระบวนการ ซึ่งก็ใช้เวลาหลายเดือนตั้งแต่เดือน พ.ย. 63-พ.ค. 64 ผลจะปรากฏชัดว่าเจ้าคณะอำเภอปางมะผ้าสั่งยกเลิกหนังสือสุทธิของพระบุญเป็ง โดยเหตุผลบางประการไม่สามารถเปิดเผยได้ทั้งหมด ก่อนที่จะส่งเรื่องกลับมายังเจ้าคณะอำเภอแม่ทะ ซึ่งเป็นผู้ปกครองที่หลวงพ่อบุญเป็งมาอาศัยอยู่ จึงได้ส่งเรื่องให้เจ้าคณะตำบลแม่ทะให้นำเรื่องการแจ้งยกเลิกหนังสือสุทธิให้หลวงพ่อทราบ ซึ่งหลวงพ่อก็รับทราบโดยตลอดและไม่มีข้อโต้แย้ง

เมื่อหนังสือสุทธิถูกยกเลิกไปแล้วก็ทำให้หลวงพ่อไม่มีหนังสือสุทธิที่ถืออยู่เพื่อแสดงความบริสุทธิ์แห่งสมณเพศและถิ่นที่อยู่ จึงขอให้หลวงพ่อไปขอออกหนังสือสุทธิเล่มใหม่จากพระอุปัชฌาย์ที่หลวงพ่อได้ไปบวชล่าสุดมาแสดงต่อเจ้าคณะอำเภอ โดยให้เวลา 15 วัน ซึ่งหากท่านได้มาเรื่องทั้งหมดก็จบ

วันที่ 28 พ.ค. หลวงพ่อเดินทางไปขอคัดสำเนาเอกสารลับที่ถูกยกเลิกเพื่อนำไปประกอบคำขอบัตรประชาชน ซึ่งก็ให้หลวงพ่อเซ็นคำขอและมอบสำเนาให้ โดยหลวงพ่อให้เหตุผลด้วยวาจาว่าชราแล้วอยากใช้ชีวิตบั้นปลายไปอยู่กับลูกหลาน และหลังจากที่หลวงพ่อรับสำเนาหนังสือไปแล้ว ในวันเดียวกันก็ได้แจ้งให้เจ้าคณะตำบลฯ ส่งพระเลขาฯ เข้าไปดูที่วัดเพื่อตรวจสอบว่าหลวงพ่อได้มีการดำเนินการถ่ายบัตรใหม่แล้วหรือไม่อย่างไร แต่พบทะเบียนบ้านของวัดที่มีการย้ายชื่อออกไปยังที่อยู่ใหม่ และเปลี่ยนคำนำหน้าจากพระเป็นนายไปแล้ว

ส่วนที่เจ้าคณะอำเภอแม่ทะได้ออกประกาศการพ้นสมณเพศของพระบุญเป็งนั้น ก็เพราะหลวงพ่อไม่มีใบสุทธิ โดยปกติพระที่จะลาสิกขาจะต้องมีการบันทึกการพ้นจากวัดในใบสุทธิหน้า 22 โดยหน้านั้นพระเถระฯ ผู้ที่ทำการสึกให้จะต้องลงรายละเอียด วัน เดือน ปี เวลา สถานที่ ที่พระรูปนั้นลาสิกขา และเซ็นรับรองหากเป็นเจ้าคณะผู้ปกครองก็จะมีตราประทับด้วย เพื่อเอาเอกสารตัวนี้ไปขอทำบัตรประชาชนฆราวาส แต่หลวงพ่อไม่มี

ดังนั้น ผู้ที่เคยอยู่ในสมณเพศเคยนุ่งเหลืองห่มเหลืองแล้วจู่ๆ ไปใส่ผ้าลาย โดยเฉพาะหลวงพ่อบุญเป็งมีคนนิยมในกลุ่มผู้นิยมวัตถุมงคลหรือลูกศิษย์ลูกหาที่เคารพนับถือ ก็อาจมีความสงสัย จึงได้มีการออกประกาศเพื่อทดแทนการบันทึกพ้นสังกัดวัดหน้า 22 แทนหนังสือสุทธิ ให้สังคมได้รับทราบว่าขณะนี้พระบุญเป็งพ้นจากความเป็นสมณเพศกลับสู่ความเป็นฆราวาส คือนายบุญเป็ง หรืออุ้ยบุญเป็ง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว


“ขณะที่ไปพบอาตมา หลวงพ่อบุญเป็งก็เรียกตัวเองว่าอุ้ย แต่ขณะนั้นยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นชุดฆราวาส ซึ่งหลวงพ่อก็ได้ถามว่า..พิธีสึกไม่ต้องมีก็ได้ เพราะมีเสื้อผ้าที่เตรียมมาแล้วและจะถ่ายบัตรทันที อาตมาก็ได้บอกว่าก็เอาตามที่หลวงตาจะพิจารณาและเห็นสมควร ซึ่งสำนักงานก็อนุเคราะห์ตามที่ขอแล้ว ทั้งหมดคือที่มา”

ส่วนการเดินหน้าต่อจากนี้เบื้องต้นก็จะให้เจ้าคณะตำบลเข้ามาดูแล และให้เสนอชื่อรักษาการเจ้าอาวาสภายใน 15 วัน พร้อมทั้งให้มีการสำรวจทรัพย์สินของวัดที่มีอยู่ให้หมด และหลังจากที่วัดได้รับการแต่งตั้งเจ้าอาวาสแล้วก็ให้ดำเนินการตามขั้นตอนให้ถูกต้องตามระเบียบต่อไป

นายจำเริญ ศรีคำมูล ผอ.สนง.พระพุทธศาสนาจังหวัดลำปาง ก็ได้บอกว่า ที่ผ่านมาแล้วก็ให้ผ่านไปและมาเริ่มต้นกันใหม่ให้ถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องการใช้ที่ดินของวัด ต้องมีการจัดแบ่งพื้นที่ให้ชัดเจนและให้นำโฉนดของวัดส่งให้สำนักพุทธฯ เป็นผู้ดูแล ต้องมีการแต่งตั้งไวยาวัจกร ต้องมีการทำบัญชีทรัพย์สิน รายรับ-รายจ่ายของวัดทุกเดือน

ขณะที่ชาวบ้านที่มาประชุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและศรัทธาในตัวอดีตพระบุญเป็ง บอกว่า แต่ก่อนที่นี่ไม่มีอะไร มีเพียงศาลาเสา 9 ต้น เมื่อพระบุญเป็งมาอยู่ก็ได้ก่อสร้างสิ่งต่างๆ ไว้มากมาย ซึ่งปัจจุบันก็จะเห็นว่ามีศาลาอเนกประสงค์ ศาลากลางน้ำ และอื่นๆ แม้ตลอดระยะเวลาเกือบ 16 ปีที่อดีตพระบุญเป็งอยู่ที่นี่จะไม่เคยมีบัญชีของวัด มีแต่บัญชีส่วนตัวที่ให้ญาติโยมบริจาคก็ตาม แต่ก็เชื่อว่าเงินส่วนใหญ่นำมาสร้างสิ่งต่างๆ ภายในวัดและที่อื่นๆ ซึ่งก็รู้สึกเสียดายที่พระบุญเป็งกลับไปเป็นฆราวาส แต่ทั้งนี้ก็จะยังไม่ทิ้งวัดและจะช่วยพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรือง รวมทั้งทำตามระเบียบตามกฎหมายต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น