เชียงใหม่ - เชียงใหม่แจงละเอียดผู้ป่วยโควิด-19 ตายอีก 2 ราย ขณะที่ยอดป่วยเพิ่มต่ำกว่าวันละ 50 ราย 7 วันแล้ว ส่วนใหญ่ติดเชื้อในครอบครัวและชุมชน รวมทั้งการลักลอบรวมกลุ่มเล่นการพนัน สั่งการเข้มงวดกฎหมายแล้ว ด้านคลัสเตอร์ “ดอยสะเก็ด-แม่วาง” มีการขยายวงผู้ติดเชื้อ
วันนี้ (9 พ.ค. 64) ศูนย์บัญชาการสถานการณ์การระบาดโรค Covid-19 จังหวัดเชียงใหม่ แถลงสถานการณ์การระบาดของโรค Covid-19 ระลอกเดือนเมษายนจังหวัดเชียงใหม่ประจำวัน โดยนายกนก ศรีวิชัยนันท์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า วันนี้จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 25 ราย ซึ่งยังถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ทรงตัว และในรอบ 7 วันมียอดผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 50 รายต่อวัน ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำการปฏิบัติในพื้นที่หมู่บ้านชุมชน เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อของจังหวัดเชียงใหม่ที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนมากเกิดจากการสัมผัสการติดเชื้อในครอบครัวและในชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนคำสั่งของจังหวัดเชียงใหม่และกฎหมาย มีการลักลอบเล่นการพนัน มีการรวมกลุ่มคน ถือเป็นการเพิ่มการสัมผัสที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ
ขณะเดียวกัน จังหวัดเชียงใหม่ได้มีมาตรการเข้มงวดที่จะดำเนินการจับกุม และกวดขันผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย โดยเมื่อวานนี้กลุ่มงานปกครองจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับสถานีตำรวจภูธรแม่ปิงจับกุมโต๊ะพนันบอลในพื้นที่ ซึ่งระหว่างการตรวจค้นพบมีคนเดินเข้าออกสถานที่ดังกล่าวจำนวนมาก ส่วนฝ่ายปกครองอำเภอสันทราย ร่วมกับสถานีตำรวจภูธรแม่โจ้จับกุมผู้ลักลอบเล่นการพนันตู้สล็อตและตู้เกมหน้าสถานบริการแห่งหนึ่งโดยพบการรวมกลุ่มคนเช่นกัน ถือว่าทั้งสองจุดเป็นจุดที่มีความเสี่ยง ดังนั้นต้องขอความร่วมมือทุกภาคส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ให้ช่วยกันสอดส่องดูแล โดยเฉพาะผู้นำท้องที่ท้องถิ่นต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา มิให้มีการฝ่าฝืนและมีการกระทำผิดกฎหมายในพื้นที่อย่างเด็ดขาด
ด้าน ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 25 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 3,894 ราย ในจำนวนนี้รักษาหายแล้ว 3,132 ราย คิดเป็นร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด ยังคงมีผู้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทุกประเภทจำนวน 751 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 11 ราย ขณะที่กลุ่มผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาตัวอยู่นั้น แยกเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย (สีเขียว) 562 ราย อาการปานกลาง (สีเหลือง) 117 ราย อาการค่อนข้างหนัก (สีส้ม) 47 ราย และอาการหนัก (สีแดง) 20 ราย
สำหรับการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงสูง หรือผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน เมื่อวานนี้ (8 พ.ค. 2564) จากทุกหน่วยตรวจ 866 ราย จำนวนที่ตรวจพบน้อยลง แต่พบผลบวกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.16 โดยสัดส่วนการตรวจพบเชื้อสูงสุดยังอยู่ที่โรงพยาบาลประจำอำเภอมากถึงร้อยละ 9.26 รองลงมาเป็นโรงพยาบาลเอกชน ร้อยละ 8.63 และหน่วยตรวจศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ ร้อยละ 6.55 เมื่อพิจารณาด้านความเสี่ยงพบว่าการสัมผัสภายในครอบครัว และการสัมผัสจากในชุมชนยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนการสัมผัสในที่ทำงาน และนำเข้าจากต่างจังหวัดลดน้อยลง ส่วนการสัมผัสในสถานบันเทิง ขณะนี้เป็น 0 เนื่องจากยังคงมีมาตรการในเรื่องของการปิดสถานบันเทิงอยู่ ขณะที่การตรวจเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงวันนี้ ได้ทำการตรวจคัดกรองกลุ่มพนักงานดับเพลิง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ซึ่งจะกักตัวครบ 14 วันในวันพรุ่งนี้ ส่วนผลการตรวจจะมีการแจ้งให้ทราบต่อไป
โดยวันนี้ไม่มีผู้ติดเชื้อกลุ่มใหม่ โดยกลุ่มผู้ติดเชื้อกลุ่มเดิม (คลัสเตอร์) ที่อำเภอดอยสะเก็ด มีการชี้แจงเรื่องการจัดงานเลี้ยงวันเกิด พบว่าเป็นเพียงงานเลี้ยงเล็กๆ ในครอบครัว แต่อย่างไรก็ตามช่วงนี้ไม่ควรจะมีการจัดงานใดๆ ขึ้น โดยเฉพาะมีผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงยิ่งต้องงดกิจกรรมทุกประการ และในวันนี้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ได้มีมติให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ในการตรวจคัดกรองเชิงรุกพนักงานขับรถทัวร์ และพนักงานขับรถส่งของทุกบริษัทเพื่อเป็นการป้องกัน เฝ้าระวังต่อไป
ส่วนกลุ่มผู้ติดเชื้ออีกกลุ่มที่อำเภอแม่วาง วันนี้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 4 ราย เป็นการระบาดภายในครอบครัว แต่มีพื้นที่ในการระบาดเพิ่มขึ้น 4 แห่ง คือ ตำบลทุ่งปี้ อำเภอแม่วาง ตำบลบ้านกาด อำเภอแม่วาง ตำบลยางคราม อำเภอดอยหล่อ และจังหวัดลำพูน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่จึงขอความร่วมมือให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่บริเวณที่พบผู้ติดเชื้อให้เฝ้าระวังตนเอง สังเกตอาการ หากมีอาการของโรค สามารถติดต่อปรึกษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน พร้อมขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด งดการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มกัน สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า เว้นระยะห่าง และเชื่อว่าผู้ป่วยรายใหม่จะลดลงและเป็นศูนย์ในเร็ววัน
ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้ชี้แจงกรณีมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่อีก 2 รายว่า รายแรกเป็นชายไทย อายุ 80 ปี มีโรคประจำตัวเป็นโรคไตวายเรื้อรัง โดยปัจจัยของการติดเชื้อเกิดจากการติดเชื้อภายในครอบครัว มีอาการไข้ ไอ หายใจเหนื่อย ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน ต่อมาวันที่ 27 เมษายน ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเชียงดาว มีอาการหายใจหอบเหนื่อยรุนแรง แพทย์จึงได้ทำการใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ จากนั้นได้ส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ตรวจพบจากภาพถ่ายรังสีว่ามีภาวะปอดอักเสบ แพทย์จึงได้เริ่มให้ยาต้านไวรัสและยาต้านแบคทีเรียทันที ต่อมามีอาการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรงจึงได้เปลี่ยนยาปฏิชีวนะใหม่ เป็นยาที่ครอบคลุมเชื้อได้มากขึ้น ในวันที่ 6 พฤษภาคมผู้ป่วยมีอาการทรุดลง มีการติดเชื้อในกระแสโลหิตและมีภาวะเลือดเป็นกรด จึงได้ให้สารน้ำทดแทนเพิ่มเติม และให้ยากระตุ้นความดันโลหิต และในวันที่ 7 พฤษภาคม อาการผู้ป่วยรุนแรงมากขึ้น ระดับความรู้สึกตัวลดลง และความดันโลหิตต่ำมาก แพทย์จึงได้เพิ่มยากระตุ้นความดันโลหิตจนถึงจำนวนสูงสุดที่จะเพิ่มได้แล้ว แต่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาที่ให้ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ส่วนผู้เสียชีวิตอีกรายเป็นหญิงไทย อายุ 67 ปี มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง โดยปัจจัยของการติดเชื้อเกิดจากการติดเชื้อภายในครอบครัวอีกเช่นกัน ซึ่งในวันที่ 22 เมษายนได้รับการตรวจหาเชื้อโควิดแล้วพบว่ามีผลเป็นบวก จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามและส่งเข้าโรงพยาบาลสันทราย จากนั้นมีอาการไอ หายใจเหนื่อย จึงส่งตัวไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ แรกรับมีอาการหายใจเร็ว เริ่มยาต้านไวรัสชนิดฉีด ยาปฏิชีวนะและยาลดการอักเสบของปอดในทันที รวมถึงได้ทำการฟอกเลือดเพื่อขับของเสียที่ส่งผลให้มีการอักเสบของปอดออกจากร่างกายร่วมด้วย วันที่ 6 พฤษภาคมผู้ป่วยมีอาการทรุดลง หายใจหอบ ออกซิเจนต่ำลงอย่างมาก จึงได้ทำการใส่ท่อช่วยหายใจและต่อเครื่องช่วยหายใจเพื่อประคับประคองอาการทางปอด และในวันที่ 7 พฤษภาคมผู้ป่วยเริ่มไม่รู้สึกตัว มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งคาดว่าเกิดจากเชื้อไวรัส หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ แพทย์ได้ให้สารน้ำ ยากระตุ้นความดันโลหิต และยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และท้ายที่สุดคลำชีพจรผู้ป่วยไม่ได้ แพทย์ผู้รักษาได้ทำการปั๊มหัวใจ ใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจเป็นเวลานานถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง แต่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาและเสียชีวิตลงในเวลาต่อมา โดยขณะนี้พบว่าแม้จำนวนผู้ป่วยใหม่จะลด แต่ยังคงมีผู้ป่วยหนักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และโรงพยาบาลนครพิงค์ ซึ่งทางคณะแพทย์ทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อรักษาทุกชีวิตไว้ให้ได้