ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ลุ้นปาฏิหาริย์! แพทย์เผย “น้องมิ้นท์” เหยื่อบั้งไฟตะไลงานศพตกใส่หัว สมองได้รับการกระทบกระเทือนมาก ก้านสมองไม่ทำงาน อาการอยู่ในขั้นโคม่า ยังไม่รู้สึกตัว ขณะนี้อยู่ได้ด้วยยาและเครื่องช่วยหายใจ แพทย์ดูแลใกล้ชิดแบบนาทีต่อนาที ด้านแม่เศร้าเผยหมอบอกให้ทำใจ ผู้ว่าฯ โคราชชี้เป็นบทเรียนราคาแพงเตรียมดูข้อ กม.ให้ยกเลิกจุดพลุตะไลเด็ดขาด
วันนี้ (1 เม.ย.) ความคืบหน้ากรณีเหตุการณ์ที่บั้งไฟตะไลหรือพลุตะไล ที่ใช้จุดในงานเผาศพพุ่งตกลงมาใส่ศีรษะ เด็กหญิงณัฐชา สวัสดี หรือน้องมิ้นท์ อายุ 10 ขวบ นักเรียนชั้น ป.3 โรงเรียนอาจวิทยาคาร ตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ขณะน้องมิ้นท์พร้อมเพื่อนรวม 3 คนเลิกเรียน และกำลังเดินออกจากโรงเรียนกลับบ้าน ทำให้น้องมิ้นท์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาเพราะอาการโคม่า ไม่รู้สึกตัว เหตุเกิดช่วงเย็นวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ตำรวจ สภ.ปักธงชัยได้แจ้งดำเนินคดีชาย 2 คนที่เป็นผู้จุดพลุตะไลในงานศพแล้วในข้อหา กระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น
ล่าสุดที่หอผู้ป่วยหนักศัลยกรรม 1 ชั้น 6 อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ อาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ภายในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยคณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา และเป็นตัวแทน นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นำกระเช้าน้ำผลไม้และนมกล่องพร้อมเงินช่วยเหลือเยียวยามอบเป็นกำลังใจแก่ นางพัชรี ช่วงจะโป๊ะ และ นายนิรุต สวัสดี แม่และพ่อของน้องมิ้นท์ ซึ่งมีอาการเศร้าโศกเสียใจร้องไห้ตลอดเวลา พร้อมกับสอบถามเรื่องเหตุการณ์ต่างๆ และอาการของน้องมิ้นท์ พร้อมปลอบโยนให้กำลังใจ
จากนั้นได้เข้าไปเยี่ยมดูอาการของน้องมิ้นท์ ซึ่งนอนรักษาอาการอยู่ในห้องปลอดเชื้อ 100% โดยมีสายยางน้ำเกลือระโยงระยาง เครื่องช่วยหายใจ และเครื่องตรวจสมอง เครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ชั้นสูง โดยร่างกายไม่รู้สึกตัว อาการทั่วไปทรงตัวหลังการผ่าตัดศีรษะเกือบเข้าสู่วันที่สอง โดยหน้าห้องมีญาติพี่น้อง เพื่อนที่ทำงานของพ่อแม่ได้นำกระเช้าเครื่องดื่มบำรุงกำลังมามอบให้อยู่ตลอด ญาติหลายคนนำเสื่อมาปูนั่งนอนเฝ้าตั้งแต่โรงพยาบาลเปิดให้เยี่ยม โดยทุกคนมีสีหน้าเศร้าหมอง และจับกลุ่มพูดคุยเรื่องอาการของน้องมิ้นท์ และทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าสงสารน้องมิ้นท์มาก อายุยังน้อย มีอนาคตอีกยาวไกล ไม่น่าจะมาเกิดเหตุขึ้นกับน้องเลย
นางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดฯ กล่าวภายหลังเยี่ยมว่า ทราบข่าวที่เกิดขึ้นกับน้องมิ้นท์ก็รู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหล่ากาชาดฯ จึงเดินทางมาเยี่ยมพ่อแม่ให้กำลังใจและปลอบขวัญให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะน้องมิ้นม์เป็นบุตรสาวคนเดียวของครอบครัว รวมทั้งนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ได้ฝากให้เรามาเยี่ยมด้วย ส่วนเรื่องอาการคงต้องถามทางคณะแพทย์ ซึ่งตนไม่ทราบว่าอาการน้องจะดีขึ้นเมื่อไหร่หรือทรงตัวหรือจะมีอะไรอย่างไร ตนและท่านผู้ว่าฯ ได้แต่ภาวนาให้น้องมิ้นท์หายเร็วๆ หายวันหายคืน ดีขึ้นเร็ววัน ส่วนเรื่องการจุดพลุตะไลนั้นควรจะต้องมีการเข้มงวด หรือไม่จำเป็นอาจจะลดหรือยกเลิกการใช้ไปเลย อันตรายจะไม่มีหรือลดน้อยลง
ด้าน นพ.บวร เกียรติมงคล ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ดูแลด้านอุบัติเหตุฉุกเฉิน เปิดเผยว่า ตอนนี้สมองได้รับความกระทบกระเทือนมาก และก้านสมองไม่ทำงาน อาการค่อนข้างหนัก ขั้นโคม่า อาการขณะนี้อยู่ได้ด้วยยาและเครื่องช่วยหายใจ แนวโน้มค่อนข้างหนัก อาการยังไม่คงที่ และไม่ทรงตัว ซึ่งแพทย์ต้องดูแลใกล้ชิดเรียกว่านาทีต่อนาที คณะแพทย์เรารักษาเต็มที่มาตั้งแต่วันแรกแล้ว ทั้งเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และทำการผ่าตัด ซึ่งอาการบาดเจ็บถือว่ารุนแรงมาก อยากฝากว่าพลุตะไลถือเป็นวัตถุอันตรายอยู่แล้ว ฉะนั้นมันต้องควบคุมให้ดี และอันนี้ไม่มีใครอยากให้เป็น และเกิดอุบัติเหตุขึ้น
นางพัชรี ช่วงจะโป๊ะ อายุ 33 ปี แม่ของน้องมิ้นท์ เปิดเผยว่า น้องมิ้นท์เป็นลูกสาวคนเดียว หัวแก้วหันแหวน ต้องขอขอบคุณนายกเหล่ากาชาดและผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาที่เข้ามาช่วยเหลือดูแลแทนน้องมิ้นท์ด้วย ตนเสียใจต่อเหตุการณ์นี้มาก อย่างไรก็ตามตนและสามีต้องสู้ต่อไป และขอฝากให้เป็นอุทาหรณ์อย่าได้เกิดขึ้นกับลูกหลานคนไหนอีกเลย อยากให้กรณีน้องมิ้นท์เป็นกรณีสุดท้ายสำหรับเรื่องนี้ที่ไม่น่าเอามาใช้เพราะเป็นอันตราย ล่าสุดตน สามีและญาติได้เข้าไปเยี่ยมอาการแล้วน้องมิ้นท์อยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจ ครอบครัวเราอยากได้กำลังใจขอให้น้องหายไวๆ หมอบอกว่าให้ทำใจเพราะน้องอาการหนัก
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ และไม่น่าเกิดขึ้น ปกติการจุดพลุ จุดตะไล จะต้องขออนุญาตจากทางส่วนราชการ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้อาจเป็นเพราะประเพณีงานศพ เป็นวิถีของชาวบ้าน จึงมีการจุดพลุ ตะไลตามความเชื่อ ส่วนตัวไม่อยากให้มีการจุดพลุ จุดตะไลในงานพิธีต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันความเจริญของบ้านเมืองมีมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนและประชาชน เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นบทเรียนราคาแพง ทั้งนี้ การจุดพลุ จุดตะไลไม่มีประโยชน์ มีแต่อันตราย สิ้นเปลือง อยากให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบในการปฏิบัติตามความเชื่อจะดีกว่า ที่ผ่านมาได้กำชับมาโดยตลอดเรื่องการจุดพลุ จุดตะไล ให้ทุกอำเภอสอดส่องดูแล แต่จากเหตุการณ์ครั้งนี้จะต้องกำชับเข้มงวดมากขึ้น พร้อมทั้งจะไปศึกษา ดูข้อกฎหมาย หากห้ามหรือยกเลิกการจุดพลุ จุดตะไล ได้ก็จะห้ามทันที เนื่องจากมีอันตรายมากทั้งไฟไหม้บ้านเรือน ไร่นา รวมทั้งเป็นอันตรายต่อชีวิตของประชาชนด้วย