เชียงใหม่ - ผู้ว่าฯ เชียงใหม่รับยังพบจุดความร้อนในพื้นที่ต่อเนื่องแต่ลดลงเหลือแค่ 60% ของปีที่ผ่านมา สั่งสนธิกำลังเร่งปูพรมดับแล้ว ชี้ปัจจัยฝุ่นควันหนักต้นตอมาจากกระแสลมหอบเข้ามาจากเพื่อนบ้าน ขณะที่ค่า PM 2.5 ยังแย่กระทบสุขภาพ ระดมฉีดน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นหวังช่วยบรรเทาและรณรงค์เชิงสัญลักษณ์
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า วันนี้ (9 มี.ค. 64) สถานการณ์ปัญหาฝุ่นควันจากการเผาและคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง โดยสภาพตัวเมืองถูกปกคลุมด้วยหมอกควันหนาทึบตลอดทั้งวัน ทั้งนี้ รายงานผลการตรวจวัดจากสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษในตำบลช้างเผือก ตำบลศรีภูมิ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง และตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ พบค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เมื่อเวลา 13.00 น. อยู่ที่ 113 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, 112 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, 91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ ซึ่งเกินค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยวันนี้ที่บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มณฑลทหารบกที่ 33 ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำจิตอาสา พร้อมด้วยอุปกรณ์ทำการฉีดพ่นละอองน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ รวมทั้งล้างทำความสะอาดถนนเพื่อบรรเทาปริมาณฝุ่นควันและเป็นการรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ให้ประชาชนตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหา
สำหรับจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่นั้น รายงานระบุว่าเช้าวันนี้พบจำนวน 211 จุด เกิดขึ้นใน 18 อำเภอ จากทั้งหมด 25 อำเภอ โดยอำเภอที่พบมากที่สุดคืออำเภอเชียงดาว 39 จุด รองลงมาคืออำเภออมก๋อย 38 จุด ทั้งนี้พบว่าจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในระยะนี้ส่วนใหญ่เป็นจุดที่ลุกลามจากจุดเดิม ซึ่งในวันนี้พบว่ามีจุดลุกลามจากเมื่อวานนี้มากถึง 69 จุด ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่เขาสูงชัน และเป็นหน้าผาสูง ทั้งนี้ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้สั่งการให้ทุกอำเภอเปิดปฏิบัติการดับไฟป่าเพื่อลมหายใจคนเชียงใหม่ โดยให้สนธิกำลังอาสาสมัครดับไฟป่าประจำหมู่บ้านบูรณาการกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดับไฟป่าเพื่อควบคุมจุดความร้อนที่เกิดขึ้นให้ได้โดยเร็ว เน้นเป้าหมายในพื้นที่ที่เข้าถึงยากและลุกลามในช่วงกลางคืนให้หมด
อย่างไรก็ตาม ปัญหาฝุ่นควันที่เผชิญอยู่ในขณะนี้เกิดจากได้รับอิทธิพลของลมตะวันตกและลมตะวันออกที่พัดพาฝุ่นควันจากพื้นที่ข้างเคียงเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ และความสามารถในการระบายอากาศน้อยมาก การสะสมของฝุ่นควันขึ้นลงในแนวดิ่ง พออากาศอุ่นฝุ่นจะลอยขึ้นสูงแต่ยังไม่มีที่จะระบายออก พออากาศเย็นก็จะถูกกดลงมาไม่สามารถระบายออกไปได้ จึงขอให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นควัน และรักษาสุขภาพของตนเองด้วย
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ระบุว่า ในเชิงการบริหารจัดการ จังหวัดเชียงใหม่สามารถบริหารจัดการได้เป็นไปตามแผน ทั้งการบริหารจัดการเชื้อเพลิง การบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ระหว่างฝ่ายของชุมชน ตำบล หมู่บ้าน และฝ่ายของเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม โดยสภาพของอากาศทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นควันในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ จะเห็นว่าการบริหารจัดการเมื่อพิจารณาจากจุด Hotspot จนถึงขณะนี้พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เกิดขึ้นแล้วไม่เกิน 60% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่มีปัจจัยที่ไม่อาจควบคุมได้ทั้งสภาพอากาศและลม ซึ่งหอบเอาสิ่งต่างๆ เข้าสู่เชียงใหม่
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาคริต โชตอมรศักดิ์ หัวหน้าคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงสภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงนี้ว่า สำหรับสถานการณ์ฝุ่นควัน PM 2.5 ในช่วงที่ผ่านมาเป็นปัจจัยร่วมทั้งในเรื่องของปัจจัยสภาพภูมิประเทศที่จังหวัดเชียงใหม่มีลักษณะเป็นแอ่ง ประกอบกับปัจจัยในเรื่องของแหล่งกำเนิดที่มีเพิ่มขึ้นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา และพอพิจารณาร่วมกับปัจจัยของสภาพอากาศแล้ว พบว่าลมที่เป็นต้นลมที่พัดเข้ามาในพื้นที่นั้นได้สัมพันธ์กับพื้นที่ที่มีแหล่งกำเนิดจำนวนมากตรงนี้ด้วย นอกจากแหล่งกำเนิดที่เกิดขึ้นในพื้นที่เอง ผลของแหล่งกำเนิดที่เกิดจากพื้นที่โดยรอบ และปัจจัยภูมิประเทศที่เป็นแอ่งก็ส่งผลทำให้สถานการณ์ฝุ่นควัน PM 2.5 ในช่วงที่ผ่านมาของจังหวัดเชียงใหม่มีสถานการณ์ระดับความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนั้นขอให้ประชาชนป้องกันตนเองเพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพด้วย
ขณะเดียวกัน หัวหน้าคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ในเรื่องของการดำเนินการป้องกันฝุ่นควัน ไฟป่า หมอกควันที่ต้องแก้ไข ถ้ามองมิติในเรื่องของอากาศ ปัญหาเรื่องของฝุ่นควัน PM 2.5 ปัญหามลพิษทางอากาศ เป็นปัญหาในระดับภูมิภาคที่จำเป็นต้องหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน บางพื้นที่มีจุดความร้อนน้อยอย่างที่จังหวัดเชียงราย แต่ได้รับอิทธิพลของระดับความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 มาก ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนหรือหมอกควันข้ามแดน ซึ่งไม่ใช่ว่ามาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเดียว แต่ในพื้นที่ที่เกิดในประเทศของเราเองก็ส่งผลกระทบซึ่งกันและกันด้วย