พิษณุโลก - นายก อบต.ห้วยเฮี้ยเผยถนนเข้าไร่ม้งเก็บค่าผ่านทางกระบะต่างถิ่นขนกะหล่ำคันละ 50-60 บาท ทำกันเอง-มีเท่าไหร่ทำเท่านั้น ขณะที่ถนนจากเชื่อม ทล.12 เข้าหมู่บ้าน ขอมา 21-22 ปียังติดปัญหาเขตอุทยานฯ รออธิบดีฯ เคาะ
หลังจากพี่น้องชาติพันธุ์ม้งห้วยทรายเหนือ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก หลายสิบคนร่วมกันลงแรงเทปูนลาดไปตาม “ร่องล้อรถ” โดยไม่เทปูนกลางถนน ทำเป็นถนน 2 ช่องล้อทางเกวียน เชื่อมเข้าเรือกสวนไร่ จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามสื่อโซเชียลอย่างกว้างขวาง
นายแดนชัย กิตติวุฒิเมธี นายก อบต.ห้วยเฮี้ย อ.นครไทย จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ถนนทางเข้าไร่ชาวม้งในพื้นที่หมู่ 6 ทำกันเอง โดยใช้เงินที่เก็บค่าผ่านทางจากรถกระบะต่างถิ่นที่ขึ้นไปรับผลผลิตทางการเกษตร อาทิ กะหล่ำปลี บนดอย คันละ 50-60 บาท มีเงินเหลือปีละราว 5 หมื่นบาท ก็เอามาทำถนนเป็นช่วงๆ ระยะไม่เกิน 100 เมตร และทำเฉพาะช่วงทางโค้ง-ทางสูงชัน เนื่องจากฤดูฝนรถยนต์ขึ้นไปลำบาก และมีหลายเส้นทางแต่ละเส้นยาวนับ 10 กิโลเมตร เรียกว่าพอมีเงินเหลือเท่าใดก็ทำถนนได้แค่นั้น
ส่วนที่มีคนบอกว่าเจ้าหน้าที่อุทยานฯ หรือ จนท.ป่าไม้จะไม่พอใจนั้น นายแดนชัยบอกว่าคงไม่ใช่ เพราะมันเป็นความจำเป็นของพี่น้องม้งที่ต้องขนส่งพืชผลทางการเกษตรทุกปี ไม่ใช่การตัดไม้หรือถางดินเพื่อทำถนน จึงไม่ได้ไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
ถามว่าทำไมไม่เอางบ อบต.ห้วยเฮี้ยไปช่วยทำถนนให้ชาวบ้าน นายแดนชัยชี้แจงว่า อบต.ห้วยเฮี้ยไม่มีงบมากพอที่จะไปทำถนนเข้าไร่ เนื่องจาก อบต.มีงบพัฒนาพื้นที่ประมาณ 5 ล้านบาทต่อปี รับผิดชอบพื้นที่ 10 หมู่บ้าน หากเฉลี่ยงบก็ได้หมู่บ้านละประมาณ 5 แสนบาท ปีที่ผ่านมา อบต.ห้วยเฮี้ยจัดสรรงบประมาณก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) กว้าง 5 เมตร พื้นที่หมู่ 6 บ้านห้วยทรายเหนือ ไปแล้ว 1 ล้านบาท ขณะที่อีก 9 หมู่บ้านได้รับงบพัฒนาประมาณ 3 แสนบาทเท่านั้น
ส่วนถนนที่เชื่อมต่อจาก ทล.หมายเลข 12 เข้าสู่หมู่บ้านห้วยทรายเหนือ ระยะทางเกือบ 10 กิโลเมตร ซึ่งมีอยู่กว่า 5 กิโลเมตรที่เป็นถนนดินแดง ของบประมาณราดยางมา 22 ปี จนถึงวันนี้ยังคงเหมือนเดิม กระทั่งชาวม้งไม่ขอลงคะแนนเลือกตั้ง อบจ.พลนั้น
นายแดนชัยกล่าวว่า ได้มีการขอถนนห้วยทรายเหนือผ่านไปอำเภอนครไทยถึงจังหวัดพิษณุโลก โดยวางงบประมาณไว้ที่ 5-16 ล้านบาท และองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลกได้บรรจุในแผนงานโครงการแล้ว แต่ก็ต้องถูกถามกลับมาถึงการส่งมอบพื้นที่ ซึ่งวันนี้ยังไม่ได้รับการเห็นชอบจากอธิบดีกรมอุทยานฯ ทำให้ปัจจุบันถนนไม่มีความคืบหน้าใดๆ นับจากปี 2542 เนื่องจากผืนดินทั้งหมดอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
“ผมได้ประสานกับอุทยานฯ ทุ่งแสลงหลวง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 พิษณุโลก ล่าสุดเรื่องถึงกรมอุทยานแห่งชาติฯ กำลังรอการอนุมัติจากอธิบดีกรมอุทยานฯ อยู่ หากได้รับอนุมัติก็สามารถเร่งรัดทำถนนได้”