เชียงใหม่ - ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทานติดตามความก้าวหน้าโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ หวังเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมแก้ปัญหาภาคเหนือ พร้อมเปิดตัวนวัตกรรมใหม่กรมอุทยานฯ เสริมเขี้ยวเล็บสนับสนุนการดับไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
วันนี้ (11 ก.พ. 64) ที่ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พลเอก ศิวะ ภระมรทัต รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าของโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, พลตรี ถนัดพล โกศัยเสวี รองแม่ทัพภาคที่ 3 และนายศรัญญู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรับทราบผลการดำเนินงาน
ทั้งนี้ พบว่าโครงการในระยะที่ 1 ตลอดปีพุทธศักราช 2563 หน่วยงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้มีการปลูกเสริมป่าในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 1,968 ไร่ จัดทำฝายชะลอน้ำ 21 ฝาย ทำแนวกันไฟป่าเปียก 4 กิโลเมตร โดยในปี 2564 จะดำเนินการปลูกเสริมป่าและฟื้นฟูป่าเพิ่มอีก 40,282.35 ไร่ มีการร่วมกับชุมชนออกแบบการจัดที่ดินทำกินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1-5 ควบคู่ไปกับการปลูกไม้ยืนต้น ปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง
ขณะที่การดำเนินการในระยะที่ 3 ในปี 2565-2570 จะดำเนินการปลูกฟื้นฟูป่าอีกจำนวน 233,331.30 ไร่ และบริหารจัดการที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย จำนวนร้อยละ 15-20 ของพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่ป่าเสื่อมสภาพ เพื่อให้มีพื้นที่ป่าพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น 275 481.65 ไร่ ซึ่งในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) จะดำเนินการปลูกป่าเสริมในพื้นที่ 18 ป่าอนุรักษ์ของจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 419 หมู่บ้าน เนื้อที่รวม 8,682.35 ไร่ และจะดำเนินการในปี 2565-2570 เนื้อที่ 68,631.3029 ไร่
ในปีนี้ได้มีการนำอุปกรณ์ เครื่องมือใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ในการป้องกันปัญหาไฟป่า เช่น ถังน้ำดับไฟป่าเคลื่อนที่ ซึ่งเคลื่อนย้ายได้ง่าย มีศักยภาพในการพ่นน้ำดับไฟได้ไกลถึง 3 กิโลเมตรบนสันเขา ส่วนถ้าเป็นแนวราบจะฉีดพ่นน้ำได้ไกลประมาณ 5 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีการนำเครื่องอัดใบไม้โดยนำเครื่องยนต์มาใช้ รวมถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านนำเสวียนมาใช้เก็บใบไม้แห้ง สนองนโยบายชิงเก็บลดเผา นำเสวียนมาดัดแปลงใช้เก็บน้ำชั่วคราว ตลอดจนมีการนำจุลินทรีย์จิตอาสา ที่ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทานนำมามอบให้มาทำเป็นปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง โดยใช้ผสมน้ำรดลงไปบนเศษใบไม้ให้ทับถมกันจนกลายเป็นปุ๋ยหมัก นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
พร้อมกันนี้ ยังมีการเปิดตัวรถครัวสนามเคลื่อนที่เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาหารเลี้ยงดูแลเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านดับไฟป่าในพื้นที่ด้วย สำหรับการป้องกันการเกิดไฟป่า และหมอกควัน ได้ดำเนินการวางแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในห้วงเดือนมกราคม-เมษายน ไว้ไม่เกิน 500,000 ไร่ ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ (1-31 มกราคม 2564) จำนวน 71,446.5 ไร่แล้ว และจุดความร้อนลดลงจากปี 2563 กว่า 1,200 จุด
ด้าน นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า ในปีนี้ทางกรมฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้านเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่าภาคเหนือ ที่นอกเหนือจากการเตรียมความพร้อมด้านกำลังพลแล้วยังมีในเรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือ และสิ่งสำคัญคือน้ำที่ใช้ในการดับไฟ ซึ่งปีนี้มีการนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้พัฒนาเป็นนวัตกรรมและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยทำให้สามารถใช้น้ำที่มีในการดับไฟได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งเข้าถึงพื้นที่ที่ห่างไกลและยากลำบากได้มากขึ้น
ขณะเดียวกันมีการใช้แผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงควบคู่กันไปด้วย โดยทำการจัดเก็บเชื้อเพลิงในป่าผลิตเป็นปุ๋ยหมักด้วยน้ำจุลินทรีย์ที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน และมีการสนับสนุนงบประมาณในการจัดจ้างให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมกันทำแนวกันไฟด้วย พร้อมกันนี้ ในปีนี้มีการนำรถครัวสนามเคลื่อนที่มาใช้ในการปฏิบัติงานดับไฟป่าด้วย เพราะตระหนักดีว่าการประกอบอาหารเพื่อเลี้ยงกำลังพลถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ย้ำว่า เพียงลำพังการปฏิบัติงานของกรมฯ อย่างเดียวย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะประสบความสำเร็จในการป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่าของภาคเหนือ โดยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมมือและสนับสนุนซึ่งกันและกันจากทั้งประชาชน และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการทำงานจึงจะประสบความสำเร็จ โดยหากการป้องกันแก้ไขปัญหาสำเร็จแล้วเชื่อมั่นว่าจะส่งผลดีต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของภาคเหนืออย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 แล้ว