ลำปาง - จนท.เก็บตัวอย่างดิน-น้ำกลางทุ่งนาลำปางตรวจสอบสารเคมี หลังนกเป็ดแดงอพยพตายเกลื่อน หวั่นกระทบระบบนิเวศ
ความคืบหน้ากรณีพบนกเป็ดแดงซึ่งเป็นนกตระกูลเดียวกับนกเป็ดน้ำ สัตว์สงวนคุ้มครอง อพยพหนีหนาวจากซีกโลกเหนือ ตายเกลื่อนเกือบ 100 ตัว กลางทุ่งนาหลังหมู่บ้านคันทรีวิลล์ ต.ปงแสนทอง อ.เมืองลำปาง ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพร้อมเก็บซากนกทั้งหมดฝังดิน และนำซากนกที่ยังสมบูรณ์ไปผ่าตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาสาเหตุการตาย
หลังจากมีการนำเสนอข่าวคนที่ทำนาแปลงเกิดเหตุได้เข้าแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่ และให้การว่ามาเช่าที่นาดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ และได้หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงไปแล้ว แต่เห็นว่าน้ำในแปลงนาแห้งลงเกรงว่าหญ้าจะขึ้น จึงได้ซื้อยาฆ่าหญ้าชนิดคุมเลนแบบเม็ดมาผสมน้ำ จ้างคนราดบนแปลงนา กระทั่งทราบข่าวว่ามีนกมากินจนตายเกลื่อนบนที่นา ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 สาขาลำปาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.เขลางค์นครแล้ว
ด้านนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ และสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด โดยนายอำนวย ศรีแสงฤทธิ์ ผอ.ทสจ.ลำปาง พร้อมด้วย น.ส.รตนพร กิติกาศ เกษตรจังหวัด นายระพีศักดิ์ มาลัยรุ่งสกุล ผอ.สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลําปาง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างดินและน้ำ รวมถึงสำรวจพื้นที่แปลงนาจุดเกิดเหตุและโดยรอบทั้งหมดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
นายอำนวย ผอ.ทสจ.ลำปาง เปิดเผยว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มาเก็บตัวอย่างเพื่อจะนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาสารเคมีในแปลงนาที่คาดว่าสิ่งที่ทำให้นกเป็ดแดงตายน่าจะเป็นสารเคมี จึงต้องเก็บตัวอย่างไปตรวจ เพื่อหาสาเหตุว่าเป็นสารเคมีชนิดใดกันแน่
ขณะที่ น.ส.รตนพร กิติกาศ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดลำปาง กล่าวเพิ่มเติมว่า คนทำนาแปลงนี้ได้ปลูกข้าวนาปรัง และสูบน้ำบาดาลใส่ที่นา รวมถึงน้ำจากลำเหมืองใกล้ๆ และจากการสอบสวนพบว่าหลังจากหว่านเมล็ดข้าวลงไปและต้นข้าวได้โผล่ยอดขึ้นมา เจ้าของนาก็ได้ฉีดพ่นสารเคมีเพื่อหวังกำจัดเพลี้ย-หนอน ซึ่งกรณีดังกล่าวจะได้ตรวจสอบว่าซื้อสารเคมีมาจากแหล่งไหน และถูกต้องหรือไม่
“สารเคมีชนิดดังกล่าวหากใช้ในปริมาณที่เหมาะสมก็จะไม่เป็นอันตราย แต่หากใช้มากก็จะเป็นอันตรายต่อพื้นที่ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ได้ เมื่อฉีดพ่นลงไปในแปลงนาแล้ว ในห้วง 7 วันที่ฉีดลงไปถือว่าอันตรายต่อสัตว์ และคนมาก ฉะนั้นเป็นไปได้ว่านกเป็ดแดงอาจจะบินลงมากินเมล็ดข้าว หรือยอดข้าวในช่วงหลังฉีดพ่นสารเคมี จึงทำให้ตายทั้งหมด ซึ่งอีก 2 วันจะรู้ผลตรวจว่าเป็นสารเคมีชนิดไหน”
นายระพีศักดิ์ มาลัยรุ่งสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลําปาง เปิดเผยว่า วันนี้เราเก็บตัวอย่างดิน และแหล่งน้ำโดยรอบไปตรวจเพื่อดูว่ามีสารเคมีอยู่บริเวณนี้ชนิดใดบ้าง เพื่อจะได้สร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าสารเคมีชนิดต่างๆ จะไม่กระทบต่อระบบนิเวศ หรือแหล่งน้ำโดยรอบ เพื่อความปลอดภัย