กาญจนบุรี - เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังรอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ เดือดร้อนหนักหลังปลาตายจำนวนมาก ด้านนักธรณีศาสตร์ เผยอาจเกิดจากเพราะขาดความสมดุลของสภาพแวดล้อมที่เกิดจากมนุษย์ รวมทั้งการเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติ "การพลิกกลับของชั้นน้ำ"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา เพจเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า “สาเหตุการเกิดน้ำขุ่นและมีกลิ่นเหม็นในช่วงนี้เป็นเพราะปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เรียกว่า "การพลิกกลับของชั้นน้ำ" ซึ่งส่งผลให้พื้นที่น้ำที่มีความกว้างใหญ่และลึกเกิดความเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดโดยธรรมชาติ ความหนาแน่นของน้ำจะเปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิ ทำให้น้ำถูกแบ่งออกเป็นชั้นๆ เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำที่แตกต่างกัน ซึ่งเรียกว่า "การแบ่งชั้นน้ำเนื่องจากอุณหภูมิ" ในช่วงหน้าร้อนน้ำชั้นบนจะมีอุณหภูมิสูง
เนื่องจากได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์ ส่วนน้ำชั้นล่างจะมีอุณหภูมิต่ำเนื่องจากแสงอาทิตย์ส่องไม่ถึง นั่นทำให้น้ำชั้นบนมีความหนาแน่นต่ำกว่าน้ำชั้นล่าง เมื่อเข้าสู่หน้าหนาวน้ำชั้นบนจะมีอุณหภูมิต่ำลง ทำให้ความหนาแน่นเพิ่มมากขึ้น น้ำชั้นบนจึงเกิดการจมตัว และทำให้น้ำชั้นล่างที่มีตะกอนพลิกกลับขึ้นมา จึงทำให้เกิดน้ำขุ่นและมีกลิ่นเหม็น ซึ่ง "การพลิกกลับของชั้นน้ำ" นี้จะเกิดหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ตามความหนาแน่นของชั้นน้ำที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ
ต่อมา ระหว่างวันที่ 21-23 ม.ค. เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง ชาวบ้านโบอ่อง หมู่ 2 ต.ปิล็อค อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักเนื่องจากปลากดคังที่เลี้ยงเอาไว้ภายในกระชังริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ตายพร้อมกันเป็นจำนวนมาก มีผู้ได้รับผลกระทบเกือบ 30 ราย มูลค่าความเสียหายรวมกันหลายล้านบาท
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ล่าสุด เวลา 15.00 น. อาจารย์ ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล อาจารย์ประจำสาขาวิชาธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เปิดเผยว่า สาเหตุน้ำขุ่น เนื่องจากระดับน้ำบาดาลหรือ น้ำใต้ดินรอบอ่างเก็บน้ำช่วงเข้าฤดูแล้งนี้น่าจะลดลงมาก ทำให้ความลาดชันของชั้นน้ำบาดาลรอบอ่าง และในตัวอ่างต่างกันมากขึ้นๆ น้ำใต้ดิน น้ำบาดาลไหลจากชั้นน้ำที่สูงกว่าลงไปในอ่าง น้ำใต้ดินจึงไหลลงมาจากขอบอ่างเร็วขึ้นมากตามแรงดันน้ำใต้ดินที่เพิ่มขึ้นจากระดับที่ต่างกันนั้น นี่คงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขุ่นได้ในธรรมชาติ
ส่วนกิจกรรมมนุษย์ที่เกิดจากการใช้น้ำรอบอ่าง น้ำที่ไหลกลับลงอ่างก็ทำให้เกิดน้ำขุ่นได้ตามระดับการใช้น้ำ ผนวกกับสาเหตุอื่นๆ กล่าวคือ ใต้อ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ มีซากต้นไม้ใบไม้ฝังกลบอยู่มากมายตั้งแต่เริ่มกักเก็บน้ำ ประกอบกับซากต้นไม้และซากสิ่งมีชีวิตที่ถูกพัดพามาสมทบภายหลัง
เมื่อน้ำที่เคยกดทับลดลง ก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซไข่เน่าก็ละลายในน้ำเพิ่มขึ้น และลอยระเหยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้นเป็นปกติ สิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นเพราะปริมาณสัดส่วนของก๊าซออกซิเจนในน้ำลดลงมาก เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของกลุ่มก๊าซที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิต
ที่สำคัญคือ ก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่า ซึ่งพบมากขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ออกซิเจนในน้ำลดลง ต้องตรวจสอบระดับน้ำในอ่าง ปริมาณน้ำในอ่างแต่ละช่วงที่ผ่านมาว่าคุณภาพน้ำในช่วงต่างๆ เหล่านั้น และปัจจุบัน รวมถึงสภาพตะกอนและสิ่งแปลกปลอมใต้ท้องน้ำ รวมถึงเศษอาหารปลา และมูลปลาตกค้างในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง
ปัจจัยทั้งหมดเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันในธรรมชาติเป็นปกติอยู่แล้ว ยิ่งน้ำนิ่งยิ่งเพิ่มความรุนแรง เพราะขาดความสมดุลของสภาพแวดล้อม ยา ปุ๋ย และสารตกค้างที่เกิดจากกิจกรรมการเกษตรในพื้นที่ทั้งหมดก็ต้องนำมาพิจารณาถึงสาเหตุการตายของปลาด้วย
สำหรับแนวทางการป้องกันปัญหาเพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียของเกษตรกรเลี้ยงปลาในอ่าง คือการประเมินศักยภาพทรัพยากรน้ำในอ่างในแต่ละฤดูกาล มีการตรวจวัดคุณภาพน้ำเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดสมดุลทางสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด