กาญจนบุรี - สคบ.สทบ.เขต 2 จ.สุพรรณบุรี ทสจ.กาญจนบุรี ลงพื้นที่ ตรวจสอบบ่อบาดาลเขต อ.บ่อพลอย-ห้วยกระเจา พบไม่ได้รับอนุญาตจาก ทสจ.ถึง 29 บ่อ แนะขออนุญาตให้ถูกต้อง หากฝ่าฝืนผิดตาม พ.ร.บ.น้ำบาดาล พ.ศ.2520 มาตรา 16
จากกรณีนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักควบคุมกิจการน้ำบาดาล สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 สุพรรณบุรี เจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) กาญจนบุรี นำเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบการลักลอบประกอบกิจการน้ำบาดาลในพื้นที่ อ.บ่อพลอย และ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี เพื่อป้องปรามการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.น้ำบาดาล พ.ศ.2520 มาตรา 16 ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้ว
ล่าสุด วันนี้ (23 ม.ค.) นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ระหว่างวันที่ 19-21 ม.ค.รวม 3 วัน โดยวันที่ 19 ม.ค.เข้าตรวจสอบสถานประกอบการฟาร์มไก่ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในท้องที่ หมู่ 9 ต.บ่อพลอย อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี จำนวน 1 แห่ง เมื่อไปถึงพบเจ้าของผู้ประกอบการแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า มีบ่อน้ำบาดาลไม่มีใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลภายในฟาร์มทั้งหมดประมาณ 10 บ่อ
เจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจสอบได้บริเวณภายนอกฟาร์มไก่ เฉพาะในส่วนสำนักงานและบ้านพักคนงาน โดยมีบ่อน้ำบาดาลไม่มีใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล จำนวน 5 บ่อ โดยแบ่งเป็นบ่อน้ำบาดาลสภาพพร้อมใช้งาน จำนวน 4 บ่อ และบ่อน้ำบาดาลที่ไม่ได้มีการลงเครื่องสูบน้ำบาดาลและไม่ได้ต่อระบบไฟฟ้า จำนวน 1 บ่อ
ส่วนบริเวณพื้นที่ภายในของฟาร์ม เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าตรวจสอบได้ เนื่องจากผู้ประกอบการให้เหตุผลว่าฟาร์มกำลังอยู่ในช่วงเลี้ยงไก่ และพื้นที่ภายในฟาร์มเป็นเขตปลอดโรค แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการได้แจ้งว่าภายในฟาร์มมีบ่อน้ำบาดาลไม่มีใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล ประมาณ 5 บ่อ
ต่อมา วันที่ 20 ม.ค.64 เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบสถานประกอบการฟาร์มหมู ท้องที่หมู่ 12 ต.บ่อพลอย อ.บ่อพลอย จำนวน 1 แห่ง จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบบ่อน้ำบาดาลไม่มีใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลทั้งหมด จำนวน 3 บ่อ โดยแบ่งเป็นบ่อน้ำบาดาลที่มีสภาพพร้อมใช้งาน จำนวน 2 บ่อ และอีก 1 บ่อ ยังไม่ได้มีการลงเครื่องสูบน้ำบาดาลแต่อย่างใด
จากนั้นเข้าทำการตรวจสอบบ่อน้ำบาดาลภายในฟาร์มไก่ขนาดใหญ่ในท้องที่หมู่ 7 ต.หนองรี อ.บ่อพลอย จำนวน 3 ฟาร์ม และท้องที่หมู่ 5 ต.หนองรี จำนวน 1 ฟาร์ม รวม 4 ฟาร์ม โดยฟาร์มไก่ทั้ง 4 ฟาร์มที่เข้าตรวจสอบวันนี้ และเข้าตรวจสอบเมื่อวันที่ 19 ม.ค. อีก 1 ฟาร์มมีเจ้าของเป็นคนเดียวกัน
จากการตรวจสอบฟาร์มไก่ครั้งนี้ เจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจสอบภายในฟาร์มไก่ได้จำนวน 3 ฟาร์ม พบมีบ่อน้ำบาดาลไม่มีใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลรวมกัน จำนวน 7 บ่อ โดยแบ่งเป็นบ่อที่มีสภาพพร้อมใช้งาน จำนวน 5 บ่อ อีก 2 บ่อไม่พร้อมใช้งาน เนื่องจากยังไม่มีการต่อระบบไฟฟ้า
ส่วนอีก 1 ฟาร์ม ผู้ประกอบการแจ้งว่ามีบ่อน้ำบาดาลที่ไม่มีใบอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาล จำนวน 1 บ่อ แต่ยังไม่สามารถเข้าตรวจสอบได้ เนื่องจากผู้ประกอบการให้เหตุผลว่าฟาร์มกำลังอยู่ในช่วงเลี้ยงไก่ และพื้นที่ภายในฟาร์มเป็นเขตปลอดโรค
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า จากนั้นวันที่ 21 ม.ค. เจ้าหน้าที่ชุดเดียวกันได้เข้าตรวจสอบฟาร์มเลี้ยงหมู ตั้งอยู่ท้องที่หมู่ 21 ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา พบบ่อน้ำบาดาลไม่มีใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลที่มีสภาพพร้อมใช้งาน จำนวน 3 บ่อ โดยบ่อน้ำบาดาล จำนวน 2 บ่อ ตั้งอยู่ในบริเวณฟาร์มหมู และบ่อน้ำบาดาล จำนวน 1 บ่อ ตั้งอยู่ภายนอกรั้วของฟาร์ม โดยเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าจากภายในฟาร์มหมู
ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปตรวจสอบฟาร์มหมู ตั้งอยู่ท้องที่หมู่ 12 ต.บ่อพลอย อ.บ่อพลอย แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เนื่องจากผู้ประกอบการให้เหตุผลแก่ผู้ตรวจสอบว่า ฟาร์มกำลังอยู่ในระหว่างเลี้ยงหมูแม่พันธุ์ และพื้นที่ภายในฟาร์มเป็นเขตปลอดโรค หากเจ้าหน้าที่ประสงค์ที่จะเข้าไปตรวจสอบ จะต้องทำการกักตัวภายในฟาร์มเป็นเวลาอย่างน้อย 1 วัน
แต่อย่างไรก็ตาม คนงานของฟาร์มหมูได้แจ้งว่า ภายในฟาร์มมีบ่อน้ำบาดาลอยู่ จำนวน 5 บ่อ แต่มีสภาพพร้อมใช้งานได้เพียง 2 บ่อเท่านั้น ซึ่งพนักงานของฟาร์มได้ทำการถ่ายรูปสภาพบ่อน้ำบาดาลและจับตำแหน่งพิกัดบ่อน้ำบาดาลทั้ง 2 บ่อ ส่งให้แก่เจ้าหน้าที่เอาไว้เป็นหลักฐาน
หลังจากนี้ เป็นหน้าที่ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) กาญจนบุรี จะต้องดำเนินการแจ้งให้เจ้าของบ่อทั้งหมดเข้าไปทำเรื่องขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากฝ่าฝืนจะต้องมีความผิดตาม พ.ร.บ.น้ำบาดาล พ.ศ.2520 มาตรา 16 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะริบเครื่องมือเครื่องใช้หรือเครื่องจักรกลใดๆ ที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์กระทำผิดเสียก็ได้
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการทั้งที่มีบ่อน้ำบาดาลอยู่แล้วแต่ยังไม่มีใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล หรือผู้ประกอบการที่ประสงค์จะขออนุญาตเจาะน้ำบาดาลหรือใช้น้ำบาดาล เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาลหรือใช้น้ำบาดาลพร้อมชำระค่าธรรมเนียมคำขอ 10 บาท ต่อผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดในเขตน้ำบาดาลนั้น
หากผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตให้เจาะน้ำบาดาลหรือใช้น้ำบาดาลแล้ว ต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาล และใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลในอัตราเดียวกัน โดยขึ้นอยู่กับขนาดบ่อน้ำบาดาล เช่น ขนาดบ่อน้ำบาดาลน้อยกว่า 4 นิ้ว ค่าธรรมเนียม 100 บาท ขนาดบ่อน้ำบาดาล 4-6 นิ้ว ค่าธรรมเนียม 500 บาท และขนาดบ่อน้ำบาดาลตั้งแต่ 8 นิ้วขึ้นไป ค่าธรรมเนียม 1,000 บาท