xs
xsm
sm
md
lg

อธิบดีกรมฯ บาดาลเร่งเจาะบาดาลนำน้ำให้ชาว อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจน์ ใช้อุปโภคบริโภคในแล้งนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - อธิบดีกรมฯ บาดาล สั่งเร่งเจาะบาดาลนำน้ำใสสะอาดให้ชาว อ.ห้วยกระเจา กว่า 1,300 ครัวเรือน ใช้อุปโภคบริโภคในแล้งนี้ หลังสำรวจพบใต้พื้นดินมีปริมาณน้ำบาดาลกักเก็บมากกว่า 50 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมบริหารจัดการอย่างเป็นระบบต่อยอดไปถึงภาคการเกษตร

วันนี้ (18 ม.ค.) นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี เป็นหนึ่งในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดารมากที่สุดของประเทศไทย เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตเงาฝน ทำให้แต่ละปีมีฝนตกน้อยกว่า 800 มิลลิเมตรต่อปี

อีกทั้งพื้นดินส่วนใหญ่เป็นดินทราย พอฝนตกลงมาน้ำก็จะไหลซึมลงดินเกือบทั้งหมด ทำให้ไม่มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำห้วยในพื้นที่เลย ลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้พี่น้องชาวอำเภอห้วยกระเจา ประสบปัญหาภัยแล้งเป็นประจำทุกปี บางปีแล้งนานติดต่อกันถึง 10 เดือน ชาวบ้านจึงมีความเดือดร้อนเรื่องน้ำเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องน้ำกินน้ำใช้ และน้ำเพื่อการเพาะปลูก จนมีคนขนานนามว่าอำเภอห้วยกระเจา คือดินแดนอีสานของภาคตะวันตก ต่อมา ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันร้องขอความช่วยเหลือด้านน้ำอุปโภคบริโภค ผ่านหน่วยงานท้องถิ่น ทั้งเทศบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มายังกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เข้ามาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในอำเภอห้วยกระเจา

ในการนี้ ตนจึงได้มอบหมายให้นายเกรียงศักดิ์ ภิระไร ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและประเมินศัยภาพน้ำบาดาล จัดทีมงานเร่งเข้าดำเนินการ โดยมอบหมายให้ น.ส.อัคปศร อัคราช ผู้อำนวยการส่วนวิจัยและพัฒนางานสำรวจน้ำบาดาล พร้อมทีมงานลงพื้นที่สำรวจน้ำบาดาลในทันที

จากการเตรียมข้อมูล พบว่า พื้นที่อำเภอห้วยกระเจา เป็นพื้นที่หาน้ำบาดาลยาก หรือพื้นที่สีแดง ข้อมูลเดิมไม่พบการเจาะและพัฒนาน้ำบาดาลใช้มากนัก ส่วนใหญ่จะเจาะตื้นๆ และปริมาณน้ำบาดาลค่อนข้างต่ำกว่า 2 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง อีกทั้งชั้นหินส่วนใหญ่เป็นหินแข็ง จำพวกหินแปร และหินอัคนี จึงทำให้เจาะยาก

แต่จากการลงพื้นที่สำรวจในภาคสนามอย่างเข้มข้นเป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์ สามารถสำรวจพบแนวรอยแตกที่ซ่อนอยู่ข้างล่างในชั้นหินแปร จำพวกหินควอตซ์ไซต์ ซึ่งแนวรอยแตกดังกล่าวมีโครงสร้างคล้ายเส้นท่อขนาดใหญ่ที่ไขว้กันไปมาในหลายระดับความลึกและมีความกว้างประมาณ 2 กิโลเมตร ยาวมากกว่า 25 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ได้ทำการสำรวจธรณีฟิสิกส์ โดยวิธีการวัดค่าความต้านทานไฟฟ้าจำเพาะ (Resistivity survey) พบว่า แนวรอยแตกดังกล่าวมีหลายระดับตั้งแต่ 30, 50, 70, 90, 120, 175 และมากกว่า 250 เมตร ตามลำดับ ผลการคำนวณหาปริมาณการกักเก็บของแหล่งน้ำบาดาลในอำเภอห้วยกระเจา พบว่า มีปริมาณน้ำบาดาลกักเก็บมากกว่า 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบจะสามารถนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตรอย่างพอเพียง

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะได้ร่วมกับท้องถิ่นในการพัฒนาน้ำบาดาลที่ค้นพบขึ้นมาใช้แก้ไขปัญหาให้แก่พี่น้องประชาชนเขตตัวอำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี โดยจะเน้นด้านน้ำกินน้ำใช้อย่างเร่งด่วนที่สุด เพื่อให้พี่น้องชาวประชาชนที่มีอยู่กว่า 1,300 ครัวเรือน หรือกว่า 5,000 คน จะได้มีน้ำสะอาดไว้กินไว้ใช้อย่างเพียงพอและทั่วถึงทุกครัวเรือนให้ทันในหน้าแล้งที่จะถึงนี้








กำลังโหลดความคิดเห็น